มาตรการรัฐหนุนดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัล Q1/68 ฟื้นสู่ระดับเชื่อมั่น แม้กังวลขึ้นค่าแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 10, 2025 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาตรการรัฐหนุนดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัล Q1/68 ฟื้นสู่ระดับเชื่อมั่น แม้กังวลขึ้นค่าแรง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 1/2568 และไตรมาส 4/2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ระดับ 50.1 ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.8 ของไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/2567) โดยเป็นผลมาจากปัจจัย ด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ปัจจัยด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านต้นทุนประกอบการ ปรับตัวลดลง

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และ Easy E-Receipt 2.0 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลก ล้วนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาสแรกปีนี้ กลับสู่ระดับ "เชื่อมั่น" อีกครั้ง หลังตกลงไปสู่ระดับไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังมีความกังวลต่อการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างประเทศ และการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่น

หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ไตรมาส 1/2568 มี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 51.5 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53.5 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 52.0 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 45.8 และ 46.4 ตามลำดับ

ขณะที่ไตรมาส 4/2567 มี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 50.3 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53.3 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 50.2 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 44.2 และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 43.7

"ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย คาดหวังให้ภาครัฐเร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัลภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเปิดโอกาสต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีเกิดใหม่ สนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

* แนะสร้าง Venture Building หนุนอุตฯ ดิจิทัลโตได้จริงในประเทศ

ด้านนายวาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น แสดงวิสัยทัศน์ถึงทิศทางการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมดิจิทัล ว่า ปัจจุบันดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ยังคงเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งทุน การขาดที่ปรึกษาเชิงลึก เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยขาดโอกาสในการเติบโต และทดลองจริงในประเทศ การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นโอกาสของไทย คือ การพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่ เช่น Venture Building ที่เชื่อมโยงผู้มีไอเดียธุรกิจกับผู้มีทักษะเทคโนโลยี การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งจากความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"หากทุกภาคส่วนทำงานส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ สตาร์ทอัพไทย จะไม่เพียงช่วยยกระดับเศรษฐกิจ แต่จะสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีให้กับประเทศในระยะยาว และอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้" นายวาริน ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ