
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลหารือทางโทรศัพท์ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในประเด็นความท้าทายของระบบการค้าโลก และแนวทางการรับมือกับมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
โดยนายกรัฐมนตรีไทย และนิวซีแลนด์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับมือความท้าทายระบบการค้าโลกปัจจุบัน ซึ่งผู้นำทั้งสองเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่ 2 ประเทศได้หารือเพื่อเร่งกระชับความร่วมมือระหว่างกัน แม้ขณะนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการ 90-day pause สำหรับ reciprocal tariffs แต่ยังมีมาตรการภาษีกับทุกประเทศในอัตรา 10% ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสำหรับทุกประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามประเมินสถานการณ์และผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และได้แจ้งสหรัฐฯ แล้วว่าไทยพร้อมที่จะหารือเพื่อเพิ่มการค้าที่สมดุลมากขึ้น ควบคู่กับการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคส่วนต่าง ๆ โดยคณะทำงานได้มีการปรึกษาหารือกับทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า นิวซีแลนด์เอง ถูกกล่าวหาว่าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ 20% แม้ว่าแท้จริงแล้ว อัตราภาษีศุลกากรของนิวซีแลนด์จะอยู่ที่เพียง 1.9% เท่านั้น
โดยผู้นำทั้งสองฝ่าย ต่างกังวลถึงการนำไปสงครามการค้าที่รุนแรง และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวมากขึ้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ยังได้หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยเสนอให้ทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ภายใต้กลไกที่มีอยู่แล้ว ในทั้งกรอบทวิภาคี และพหุภาคี รวมถึงในกรอบอาเซียน ทั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement: AANZFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกลไกเหล่านี้ ได้ทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้น ในการรับแรงกระแทกจากสถานการณ์การค้าโลก
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ยังกล่าวถึงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และเห็นว่า น่าจะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณที่นิวซีแลนด์ที่เห็นความสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับไทย ในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก และยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี 69