
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย พร้อมด้วย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย, สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย, แปลงใหญ่ปลานิลชลบุรี, สมาคมปลานิลไทย และชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี วานนี้ (10 เม.ย. 68) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีการค้าในสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และในทุกกรอบเจรจา
ขณะเดียวกัน ตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ และถึงประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผ่านประธานสภาเกษตรกรต่าง ๆ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน โดยตัวแทนเกษตรกรแสดงความกังวลว่า หากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตลูกพันธุ์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ค้าปัจจัยต่าง ๆ ผู้ประกอบการ ตลาดสด ผู้ขนส่ง ทีมจับปลา รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ มากมายจำนวนกว่า 1 ล้านคน เพราะในประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ มีระบบการผลิตสัตว์น้ำ อาหารทะเลที่ทันสมัย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าประเทศไทย
"ขอเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาของประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยกรายการสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดกว่า 100 รายการ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นปลาที่นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ประเทศผู้นำโลกด้านการเพาะเลี้ยง-การผลิตอาหารทะเลออกจากการเจรจาฯ ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้านี้ เพราะผลกระทบจากการเปิดเสรี เปิดให้ปลากว่า 100 รายการ เข้ามาในประเทศแบบไม่ต้องเสียภาษีนี้ จะร้ายแรงมากต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผู้เพาะเลี้ยงปลาและอุตสาหกรรมของประเทศ ขอให้จัดสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าอ่อนไหว เป็นรายการยกเว้นการเจรจา (Exclusion List) เช่นเดียวกับ กรณีข้าวของญี่ปุ่น และนมของแคนาดา และคงภาษีที่ 5% และคัดค้านการเปิดเสรี (ภาษีเป็นศูนย์-0%) ในสินค้าเหล่านี้ เพื่อปกป้องอาชีพและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ" นายบรรจง กล่าว
ทั้งนี้ ในจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นต่อรัฐบาล เกษตรกรยังอ้างอิงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 42 และล่าสุดปี 67 ที่มีการทะลักเขามาของปลาจากต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ ปลาดุก ปลากะพง ส่งผลให้ราคาในประเทศตกต่ำ เกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกประกอบอาชีพ