ขุนคลัง ระดมสมองภาครัฐ-เอกชนเจรจาปมภาษีสหรัฐ ยันยึดประโยชน์อุตฯไทย ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 12, 2025 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขุนคลัง ระดมสมองภาครัฐ-เอกชนเจรจาปมภาษีสหรัฐ ยันยึดประโยชน์อุตฯไทย ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในปท.

รมว.คลัง พร้อมนำทีมภาครัฐ-เอกชน บินเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ เร็วๆ นี้ เชี่อไทยสามารถใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างการเติบโตให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ ยึดประโยชน์ของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยให้มากที่สุด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สภาอุตสาหกรรม กรมศุลกากร รวมถึงภาคเอกชน

ขุนคลัง ระดมสมองภาครัฐ-เอกชนเจรจาปมภาษีสหรัฐ ยันยึดประโยชน์อุตฯไทย ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในปท.

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการเจรจาในหมวดสินค้าเกษตร และการแปรรูปอาหาร เพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สัดส่วนการนำเข้าและส่งออก ให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในฐานะคู่ค้าที่เป็นหุ้นส่วนกันมายาวนาน โดยพิจารณาจากจุดแข็งของสองประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย คือ ภาคเกษตรกรรมและการแปรรูปสินค้า ขณะที่สหรัฐฯ เองมีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและราคาต่ำ

ประการแรก มีการพิจารณาในอุตสาหกรรมการแปรรูป โดยรองนายกรัฐมนตรี หยิบยกสินค้าอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก และไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาท ปัจจุบัน ไทยส่งออกอยู่ที่ 21 ล้านตัน โดยเป็นพรีเมียมเกรดส่วนใหญ่ และเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่ยังคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% ของโลก โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และยังมีส่วนต่างที่ต้องนำเข้าอยู่อีกเกือบ 8-9 ล้านตัน และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการส่งออก และเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิต คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกมากที่สุด และไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตในประเทศอีก 4 ล้านตัน

ดังนั้นไทยสามารถจัดสรรการนำเข้า ซึ่งหากไทยนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ สามารถผลิตได้มากและต้นทุนต่ำ ดังนั้นหากนำเข้าจากสหรัฐฯ จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยอาหารสัตว์ของไทยราคาถูกลงด้วย เมื่อต้นทุนถูกลง จะส่งผลต่อ supply chain ทั้งระบบ คือ ผู้ปลูก ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ขายอาหารสัตว์ ผู้ส่งให้กับผู้เลี้ยง และทำให้เกษตรการขายได้มากขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เกษตรกรในประเทศไม่ต้องกังวล เนื่องจากจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรภายในประเทศตามฤดูกาลก่อน แต่ในช่วงที่ขาดแคลนผลผลิต จึงจะมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น เกษตรกรในประเทศจะไม่ได้รับกระทบจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น ในสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมและผู้นำเข้าสินค้าหมวดนี้ พิจารณาแล้วว่าสามารถนำเข้าได้เลยและเป็นผลดีต่อประเทศ ซึ่งกำลังพิจารณาปริมาณการนำเข้าให้เหมาะสมต่อไป

ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ คือมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี (Non-tariff barriers) โดยมีการหารือถึงแนวทางที่ทำให้สหรัฐฯ มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยตามเงื่อนไขและลักษณะที่เป็นสากล ไม่มีการสวมสิทธิ์ หรือนำเข้ามาจากประเทศที่สามแล้วมาส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ

โดยรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานที่รัดกุมมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงมาตรฐานเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยให้ชัดเจน และลดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ สำหรับทุกประเทศ ไม่เฉพาะแต่สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับสินค้าที่ส่งออกมาจากไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงการนำเข้าสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม แต่จำเป็นต้องนำเข้า เพราะประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หรือสินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการประชุมครั้งต่อไป เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า ถือเป็นโอกาสทางการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย

อีกทั้งยังมีสินค้าที่ไทยกำลังจะสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ในอนาคตอยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอการผลิตจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง ซึ่งอยู่ในแผนการจัดหาของ บมจ.การบินไทย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ได้ และเป็นประเด็นที่ไทยจะแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ย้ำว่า รัฐบาลไทยจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการเจรจากับสหรัฐฯ โดยมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อจัดทำแผนรับมือ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาตลอด ขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้จากบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ จะเดินทางไปสหรัฐฯ และจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาที่ติดขัดอยู่ โดยสิ่งสำคัญ คือ จะไม่ให้กระทบกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ

"รัฐบาลมองเห็นเป็นโอกาส โดยจะปรับปรุงการบริหารจัดการทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศใช้โอกาสนี้เติบโตไปด้วยกัน ให้สมกับที่ภาคเกษตรกรรมเป็นเสาหลักของประเทศ และเพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกและนำเข้าของประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับกำหนดการที่จะไปพบกับทางสหรัฐนั้น ยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ เพราะต้องดูการตอบสนองจากสหรัฐด้วย ซึ่งเชื่อว่าสหรัฐจะเลือกเจรจากับประเทศที่มีปัญหามากในลำดับต้น ๆ ก่อน

"จะเป็นวันไหน ยังไม่อยากฟันธง เพราะเราต้องดูการตอบสนองของทางโน้นด้วย ว่าเขาจะอยากคุยกับผมก่อน หรืออยากคุยกับเกาหลีก่อน หรือญี่ปุ่นก่อน เชื่อว่าเขาจะคุยกับคนที่มีปัญหามากกว่าก่อน เพราะฉะนั้น เราต้องรอจังหวะ จะมาคิดว่าเราต้องชิงไปก่อน มันไม่ใช่ประเด็น...แต่ผมก็มอนิเตอร์อยู่ ถ้าเราปล่อยเฉย ๆ อาจไม่ได้ไป แต่จะรอให้เขากวักมือ จะไหวไหม ผมก็ต้องพยายาม ว่าจะเป็นเมื่อไร คิดว่าพอมีโอกาสที่ผมจะไปเร็ว ๆ นี้" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

ทั้งนี้ การเจรจาคงเริ่มหารือกับทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูแลในระดับนโยบาย เพื่อพูดคุยในหลักการที่ไทยจะดำเนินการ ซึ่งหากเขาเห็นด้วยกับหลักการของไทย จากนั้นจึงจะไปหารือกันในระดับของ USTR อีกครั้ง เพื่อลงในรายละเอียดของข้อมูลว่าเราจะแก้ไขปัญหาระหว่างกันอย่างไร ซึ่งต้องเป็นไปตามลำดับไม่สามารถข้ามขั้นตอนได้

"รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนร้อนใจ ทุกคนคิดถึงปัญหา แล้วก็วิเคราะห์ ซึ่งเรียนรู้และพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีขั้นตอนที่จะต้องทำ ทีมงานคิดหนัก ผมเองก็คิดหนัก" นายพิชัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ