ภาวะตลาดเงินบาท: เปิดเช้านี้แข็งค่ามาที่ 33.46 จับตาทิศทางเงินหยวน-ราคาทองคำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 16, 2025 09:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.46 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.56 บาท/ดอลลาร์

ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ของไทย เงินบาท (USDTHB) โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 33.50 บาท/ดอลลาร์ ผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ และราคาทองคำเป็นหลัก ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงิน บาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมากกว่าคาด หลังความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ถูกสั่นคลอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้ง ราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่

สำหรับในสัปดาห์นี้ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และจีน พร้อมรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ส่วนปัจจัยในประเทศช่วงนี้ ตลาดจะรอติดตามท่าทีของรัฐบาลในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อประเมินโอกาส ที่สหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราภาษีนำเข้าให้กับสินค้าไทยหลังครบกำหนดการระงับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน

แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการแข็งค่ายังมีกำลังอยู่ แต่อาจถูกชะลอแถวโซนแนวรับ 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน และราคาทองคำอย่างใกล้ชิด

นายพูน คาดกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.60 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 142.85 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 146.06 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1326 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1043 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 33.699 บาท/ดอลลาร์
  • รมว.คลัง นัดประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ ธปท.เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยจะมีการหารือถึง
มาตรการที่ ธปท.สามารถดำเนินการเพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก ที่อาจได้รับ
ผลกระทบจากความผันผวนของนโยบายภาษี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยอาจรวมถึงการพิจารณามาตรการผ่อนคลายทาง
การเงิน (monetary easing) และการดูแลสภาพคล่องในตลาดอย่างใกล้ชิด
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร
(15 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อ หลังจากดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
  • จีนเตรียมเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 ในวันนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์คาด
ว่า GDP จะขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัว 5.4% ในไตรมาส 4/2567 นอกจากนี้ จีนยังเตรียมเปิดเผย
ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายปลีก และอัตราการว่างงานด้วย
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing
Index) ประจำเดือนเม.ย. ซึ่งปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -8.1 จากเดิมที่ -20.0 ในเดือนมี.ค. ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสดใสกว่าที่นัก
วิเคราะห์ประเมินว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ -13.5 เท่านั้น
  • สำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐฯ รายงานว่า ราคาสินค้านำเข้าสู่สหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบ
รายเดือน โดยต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เพิ่งขยับขึ้น 0.2% ไปในเดือนก.พ. การ
ปรับลดลงครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.67
  • นักลงทุนยังคงจับตามาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 เม.ย.) ทำเนียบขาวได้ประกาศยกเว้นภาษี
สำหรับสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางรายการที่นำเข้าจากจีน อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า
การยกเว้นภาษีเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
  • นักลงทุนติดตามการกล่าวสุนทรพจน์ของเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในงานเสวนาว่าด้วยแนว
โน้มเศรษฐกิจสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการ
ภาษีศุลกากรของปธน.ทรัมป์
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศหลักที่จะเปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนก.พ., จีน เปิด
เผยดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค. GDP ไตรมาส 1/68 รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ อัตรา
ว่างงานเดือนมี.ค., อังกฤษ เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค., อียู เปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ. และอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ