
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการไทย ภายใต้ 5 แนวทางหลัก ดังนี้
1. จัดตั้งคลินิกผู้ประกอบการ (Export Clinic) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้นำเข้าและส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนทางการเงิน ด้วยมาตรการเยียวยาผ่านการขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุด 365 วัน รวมถึงมาตรการเสริมสภาพคล่อง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
2. ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางการติดต่อของธนาคาร รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีแบบตอบโต้ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
3. ขยายความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ในการนี้ EXIM BANK มีสินเชื่อเพื่อการร่วมงานแสดงสินค้า และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการส่งออก พร้อมเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกไทยด้วยการให้ความคุ้มครอง 75% ของมูลค่าความเสียหายกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า
4. สนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในระยะถัดไป
5. EXIM BANK พร้อมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในปี 2567 ไทยมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 300,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 18% ของมูลค่าส่งออกรวมเป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวน 3,700 รายจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พร้อมเร่งช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้า ตลอดจนส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ