นักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของอังกฤษ กล่าวว่า สกุลเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงติดต่อกัน 3 วันเมื่อเทียบกับเงินเยนเนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนั้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นและฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐให้ชะลอตัวลง
ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเยน และดิ่งลงแตะระดับต้ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับยูโร ก่อนที่จะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าราคาบ้านในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่รัฐบาลออสเตรเลียอนุญาตให้มีการซื้อขายอย่างเสรีในตลาดปริวรรตเงินตราในปี 1983
"เศรษฐกิจสหรัฐมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง เราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะ stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในสหรัฐสูงขึ้นด้วย" โทรุ อูเมโมโตะ นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราของธนาคารบาร์เคลย์สกล่าว
นักวิเคราะห์ในโพลล์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ราคาบ้านในสหรัฐจะร่วงลง 1.3% ในไตรมาสแรก โดยสำนักงานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติของสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในคืนนี้ (ตามเวลาประเทศไทย)
ส่วนการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนและสกุลเงินอื่นๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 ลงสู่ระดับ 0.3-1.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนที่ระดับ 1.3-2.0% นอกจากนี้ เฟดเตือนว่าอัตราว่างงานอาจสูงขึ้นในปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ การร่วงลงของดอลลาร์ส่งผลให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX อย่างหนาแน่น ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้น 4.19 ดอลลาร์ แตะระดับ 133.17 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงและรวดเร็วทำให้เกิดความกังวลว่า ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออัตราจ้างงานและตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--