นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐปรับเลื่อนเวลาการเจรจาผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ว่า หากมองในแง่ดีจะสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของไทยอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสหรัฐฯ ทำให้ทีมไทยแลนด์มีเวลาและโอกาสที่จะเตรียมความพร้อมมากขึ้น เช่น การนำเรื่องนวัตกรรมมาเจรจา เพราะทางสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิต และไทยเป็นผู้บริโภค
ส่วนกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นอาจเกิดผลกระทบบ้าง แต่ทีมเจรจาหลักมีข้าราชการประจำดูแลอยู่ ซึ่งต้องดูว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ โดยเฉพาะอัตราภาษีของสินค้าที่ไทยมีคู่แข่ง และในขณะนี้ยังไม่ได้มองไปถึงเรื่องการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเจรจา ซึ่งที่ผ่านมานายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง
สำหรับการเจรจาทางการค้าในปัจจุบันควรกำหนด 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
1.ยุทธศาสตร์ที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้
2.ยุทธศาสตร์ที่จะเจรจากับจีนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบซ้ำซ้อน
3.ยุทธศาสตร์ที่จะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผนึกกำลังในการต่อรองและช่วยเหลือกัน
อย่างกรณีของสินค้าแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ (MDF) และแผ่นไม้ปาร์ติเกิ้ลบอร์ด (Particleboard) ที่ถูกประเทศเวียดนามที่เป็นคู่ค้าสำคัญประกาศใช้มาตรการไต่สวนการทุ่มตลาด (AD) เมื่อวันที่ 25 ก.ย.67 ทำให้ผู้ส่งออกต้องมีหนังสือเสนอข้อโต้แย้งและเข้าร่วมประชุมแก้ต่างข้อกล่าวหากับหน่วยงานไต่สวนของเวียดนาม (TRAV)
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.67 เกาหลีใต้ได้เปิดไต่สวนการทุ่มตลาดแผ่นไม้ Particleboard ของไทย ส่งผลให้ผู้ส่งออกได้เสนอข้อโต้แย้งต่อการไต่สวนยังภาครัฐ เพื่อพิจารณาเสนอหน่วยงานไต่สวนของเกาหลีใต้ (KTC) เช่นกัน
"เราต้องชี้แจงทั้งสองประเทศให้เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าที่มีต่อสินค้าเพิ่มขึ้นว่ามาจากคุณภาพ ไม่ได้มาจากราคาถูก และไม่ได้มีปริมาณการนำเข้าเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ" น.ส.จอมขวัญ ยุวเทพากร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ส.อ.ท. กล่าว
น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถึงแม้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เป็นกรณีศึกษาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำมาถอดเป็นบทเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน