ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) โดยวิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้มองว่า GDP ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมิน GDP ไทยปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า 2.5%
ดังนั้น จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ กนง. อาจใช้แนวทาง wait-and-see เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยสะท้อนจาก Forward guidance ล่าสุดของธปท ที่ระบุว่า
- แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า
- ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้ ธปท.ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply side) ซึ่งธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต
- แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง จากการสื่อสารของธปท.ดังกล่าวส่งสัญญาณว่ากนง.อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจน (wait-and-see stance) ในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
นอกจากนี้ จับตาการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เบื้องต้นกำหนดแผนงานเจรจาภายใต้ 5 แนวทางหลัก ได้แก่
- ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทย-สหรัฐฯ
- เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ อาทิ พลังงาน เครื่องบิน
- เปิดตลาด ลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้า
- ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า (v) ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
ทั้งนี้ หากการเจรจาดำเนินไปอย่างมีความคืบหน้า จะบรรเทาความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นสูงถึง 36% ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงรูปธรรมได้ ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถเร่งสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ก่อน ย่อมอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย