นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ให้คำแนะนำประชาชนคนไทยในการวางแผนการเงินรับมือหลังต้องเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลกในอัตราสูงรวมทั้งไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยที่การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การวางแผนการเงินส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัว หากพิจารณาในช่วงเกือบ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน โดยแนะนำว่า ตามหลักการแล้ว หากเป็นมนุษย์เงินเดือนควรมีการสำรองเงินเผื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 6 เดือนของเงินเดือน แต่หากเป็นกลุ่ม Freelance ก็ต้องสำรองเงินจำนวน 12 เดือนของค่าใช้จ่ายส่วนตัว และเมื่อกลับสภาวะปกติการสำรองเงินฉุกเฉินก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
"ก่อนจะไปลงทุนต้องมีเงินสำรองก่อน โดยเดิมจะแนะนำให้มนุษย์เงินเดือนสำรองเงินฉุกเฉิน 3-6 เดือน แต่สถานการณ์ขณะนี้ที่มีความไม่แน่นอนสูง ปัจจุบันแค่ 3 เดือนไม่เพียงพอแล้ว ขั้นต่ำต้อง 6 เดือน ในส่วนของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยต่าง ๆ เช่น ในช่วงโควิด-19 ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเงินสำรอง 6 เดือนไม่พอ อย่างกลุ่มธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว ต้องสำรอง 12 เดือน เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพอิสระ" นายวิโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านมหภาค นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้เกิดความผันผวนต่อภาวการณ์ลงทุน ทั้งตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหากเรามีการจัดพอร์ตการลงทุนในแบบกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้
โดยการจัดพอร์ตการลงทุนในภาวะแบบนี้ แนะนำให้ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง ด้วยการเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ รวมถึงเงินสดให้มากขึ้น เพราะหากราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง หลังนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้ ย่อมเป็นโอกาสของการกลับไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ภายใต้แนวทางการจัดพอร์ตโดยกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของตัวเรา
สมาคมฯ มีความเห็นว่า ในยุคแห่งความไม่แน่นอนในขณะนี้ การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยมองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต และพยายามป้องกันหรือลดความเสี่ยงเหล่านั้นในน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับทรัพย์สินหรือรายได้ที่เราพยายามหามา คืออุดรอยรั่วให้หมดก่อนเติมน้ำให้เต็มนั่นเอง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สงครามภาษีทำให้โลกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งแบบชัดเจน ปัญหาที่ตามมาคือราคาสินค้าจะแพงขึ้น ดังนั้น ในสถานการณ์ที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงอยากให้คนไทยวางแผนการเงินแบบจริงจังทันที ตั้งการ์ดสูง รัดเข็มขัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น สร้างเงินออม และถ้าไม่จำเป็นไม่กู้เพิ่มหรือก่อหนี้โดยที่ไม่คิดไตร่ตรองก่อน ขณะเดียวกัน อยากให้ฝึกทักษะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม คนที่ทำงานอยู่มีอาชีพประจำ กอดอาชีพไว้ให้แน่น เพราะเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้ของเรา
ทางฝั่งของนักลงทุน ที่มีความหวั่นไหวมากจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งการลงทุนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเสถียรเมื่อไร แม้สหรัฐฯ จะทบทวนการเก็บภาษีออกไปอีก 90 วัน ไม่ได้แปลว่า 90 วันแล้วจะจบ ขณะที่จีนบอกว่าอะไรก็ตามที่แต่ละประเทศไปเจรจากับสหรัฐฯ และส่งผลกระทบกับจีน ประเทศนั้น ๆ ก็จะมีปัญหาแน่นอน ดังนั้น การลงทุนตอนนี้คือ Risk off หรือความเสี่ยงสูง แต่คนครึ่งหนึ่งของประเทศส่วนใหญ่ไม่ปรับพอร์ต เพราะอยู่บนความหวังว่าลงไปแล้วเดี๋ยวจะกลับมาดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะกลับไปที่เดิม เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ดังนั้น ต้องลดพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงลง โดยทบทวน ประเมินเป้าหมายในการลงทุนก่อนว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ และให้ปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์และความเสี่ยง โดยให้คำแนะนำว่า ให้ลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงจากเดิมลง 10-20% ในทุกระดับความเสี่ยง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตราสารหนี้เมืองไทยตอนนี้ปลอดภัยกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศ จะเจอความผันผวน 2 เรื่อง คือค่าเงินซึ่งมีความไม่แน่นอนและจะกลายเป็นสงครามค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่หวือหวามาก ดังนั้น เมื่อไรที่ดอกเบี้ยแกว่งตัว ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ก็จะแกว่ง ดังนั้น การเพิ่มสินทรัพย์ปลอดภัยแนะนำให้เป็นเงินฝากประเภทต่าง ๆ เปรียบเทียบกับผลตอบแทนในการลงทุนตลาดเงิน ตราสารหนี้ระยะสั้น-กลาง
สำหรับตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นเรื่อง Sentiment มาจากบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก เป็นเรื่องความไม่มั่นใจของทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ถ้าทุกอย่างกลับมาเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมาได้ ส่วนตลาดจะลงไปอีกมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ต้องเจอในระยะข้างหน้า ทั้งการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และอาจต้องคุยกับจีนด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐฯ ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มปรับลดลง
"ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 68 จะมีกองทุน Thai ESGX ออกมา ในเชิงการลงทุนมองว่ายังอยู่ในบรรยากาศที่สามารถทำได้ สำหรับผู้ที่มีภาระทางภาษีสูงน่าสนใจ ขณะที่ผู้ที่ลงทุน LTF อยู่สามารถขยับมาที่ Thai ESGX ได้เช่นกัน" นายวิโรจน์ กล่าว
สำหรับทองคำ ถ้ามองในมุมทิศทางการลงทุน ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ Safe Haven แต่ไม่ใช่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ โดย Safe Haven มีทอง และพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวหลัก แต่ปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์อ่อนแอ การคลังสหรัฐฯ ขาดดุลจนคนกังวล แนวคิด De-dollarization หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีมากขึ้น ส่งผลให้คนขยับไปลงทุนในทองมากขึ้น
ทั้งนี้ ทองคำไม่ใช้สินทรัพย์ปลอดภัย แต่มีความแกว่งสูง ขึ้นลงได้ แต่ตอนลงไม่มีเงินปันผลไม่เหมือนตราสารหนี้ ดังนั้น Safe Haven ในมุมมองของตน คือมองในฝั่งเงินฝากธนาคาร เงินฝากดิจิทัล สลากออมสิน ธอส. หรือ ธกส. ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่แนะนำ
"ทองตอนนี้ดีมานด์มาสูงมาก โดยเฉพาะฝั่งธนาคารกลางของแต่ละประเทศที่สะสมเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น และลดทอนการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ก็ไม่สามารถย้ายจากดอลลาร์ไปทองได้ทันทีทั้งหมด แต่แนวโน้มในการสะสมทองยังมีอยู่ คนมองเรื่องค่าเงินดอลลาร์อ่อนแอ การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ปัจจัยหนุนทำให้ราคาทองคำไม่ค่อยลง ทุกครั้งที่มีการย่อลงมาก็จะมีแรงซื้อกลับเข้าไป"
ทั้งนี้ ถ้าอยากลงทุนในทองคำอาจต้องลงทุน DCA (Dollar-Cost Averaging) สำหรับตอนนี้ ในผู้ที่ไม่มีทองเลยแต่อยากซื้อทอง สามารถซื้อได้ แต่ค่อย ๆ สะสม และไม่ควรเกิน 5% ของพอร์ต ส่วนผู้ที่มีทองในมืออยู่แล้ว และจะสะสมเพิ่ม ถือว่าได้เปรียบเพราะมีต้นทุนต่ำ โดยสะสมเพิ่มได้ แต่ไม่ควรเกิน 15% ของพอร์ต" นายวิโรจน์ กล่าว