กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจในเดือนมี.ค.68 พบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-2567) "ธุรกิจขนส่งทางอากาศ" มีแนวโน้มขยายตัวทั้งด้านรายได้ และกำไร แบ่งเป็น
1.การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และ 2.การขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งการเติบโตเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ ภายหลังจากช่วงการชะลอตัวของสถานการณ์โควิด-19, การยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ, การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และตลาด e-Commerce ที่คึกคัก โดยเฉพาะในประเทศไทยปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทางอากาศ 141 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 และมีเที่ยวบิน 886,438 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2566 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22%
สำหรับนิติบุคคลธุรกิจการขนส่งทางอากาศในประเทศไทย มีจำนวน 141 ราย มูลค่าการลงทุน 53,499 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 115 ราย คิดเป็น 81.56% ทุนจดทะเบียน 3,977 ล้านบาท, ธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 10 ราย คิดเป็น 7.09% ทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 16 ราย คิดเป็น 11.35% ทุนจดทะเบียน 49,417 ล้านบาท
ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ แม้จะมีจำนวนธุรกิจในตลาดนี้ไม่มากนัก เพราะเป็นธุรกิจเฉพาะที่ต้องใช้เงินทุนดำเนินธุรกิจที่สูง ประกอบกับมีมาตรฐานการบินโลกที่เข้ามาควบคุมธุรกิจให้มีคุณภาพ แต่ธุรกิจทั้ง 141 ราย ที่อยู่ในตลาดก็สามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างมาก
โดยในปี 2566 มีผลประกอบการอยู่ที่ 371,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 (245,460 ล้านบาท) คิดเป็น 51% และสร้างกำไรในปี 2566 จำนวน 73,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 (25,836 ล้านบาท) คิดเป็น 185%
ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ พบว่า 3 อันดับแรก ของนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ได้แก่ จีน ลงทุน 215 ล้านบาท สวิส 206 ล้านบาท และมาเลเซีย 205 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนในภาพรวม มีจำนวน 7,146 ล้านบาท คิดเป็น 13.36% ของการลงทุนทั้งหมดในธุรกิจนี้