
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้ กรมฯ ได้เริ่มปรับแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นนอมินี (การให้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ) ที่จงใจหลบเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ใหม่ โดยมีนิติบุคคลทั่วประเทศที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ 46,918 ราย และธุรกิจเป้าหมายที่จะตรวจสอบ 6 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2.ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขนส่ง และคลังสินค้า 4.ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต 5. ธุรกิจการเกษตร เช่น โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และ 6.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป
โดยในแผนเดิมนั้น กำหนดการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีคนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% ไว้ตั้งแต่ต้นปี 68 รวม 26,830 ราย เน้นธุรกิจท่องเที่ยว, ค้าที่ดิน-อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ต อี-คอมเมิร์ซ ขนส่งและคลังสินค้า ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เนื่องจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหา โดยตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งนายพิชัย ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีก 2 ชุด โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน อีกทั้งล่าสุด ได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มี ร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อปฏิบัติการทั่วประเทศ
ดังนั้น จึงทำให้มีจำนวนนิติบุคคลที่จะถูกตรวจสอบมีเพิ่มขึ้นเป็น 46,918 ราย จากเป้าหมายเดิมเพียง 26,830 ราย เพราะกรมฯ ได้สแกนบริษัทที่มีคนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นตั้งแต่ 0.01-49.99% ส่วนการเพิ่มธุรกิจเป้าหมาย เป็นเพราะภาคเอกชนร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร และกรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงาน ที่มีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วย
"ได้เริ่มตรวจสอบแล้ว ทั้งธุรกิจเหล็ก อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร เช่น ใน จ.จันทบุรี ซึ่งพบเข้าข่ายนอมินี และได้ส่งให้กรมสิบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการต่อแล้ว มากถึงหลักสิบถึงร้อยบริษัท ในจำนวนนี้รวมบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัทต้องสงสัยอื่น ๆ ด้วย สำหรับผลการตรวจสอบนอมินีของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.67-31 มี.ค.68 จับกุมผู้กระทำผิดได้ 852 ราย มูลค่าความเสียหาย 15,188 ล้านบาท" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยเพิ่มความผิดฐานนอมินี และกรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดมูลฐานตามร่างกฎหมายนี้ เพื่อให้ ปปง.สามารถยึดทรัพย์ของผู้กระทำความผิดได้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ถึงวันที่ 25 เม.ย.68 เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ปปง. จะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเห็นชอบต่อไป
"การปรับแก้กฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สิน ของผู้กระทำความผิด ทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างด้าว ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ หยุดยั้งการใช้บริษัทนอมินี และคนไทย เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน สร้างความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของระบบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำความผิด" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว