การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจร กว่า 1,891 ไร่ บนพื้นที่ของ "อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์" รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งเซมิคอนดักเตอร์-EV- Data Center ตั้งเป้าดึงดูดเมกะโปรเจกต์ลงทุน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรม-นวัตกรรมที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอารยะ มีพื้นที่ประมาณ 1,891 ไร่ อยู่ภายในโครงการ "อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์" ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพลีน้อย และตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 73 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมอารยะฯ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT, บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) และบริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ที่มีแนวคิดพัฒนาระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, EV, ยาและเวชภัณฑ์, โลจิสติกส์ และ Data Center เป็นต้น โดยโรงงานที่ตั้งในนิคมฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนตามนโยบายรัฐ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. แล้ว
นางสาวกมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการอารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ พัฒนาภายใต้แนวคิด Industrial Tech Ecosystem ระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจร ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในไทย บนที่ดินสีม่วงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 32 ของถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเชื่อมต่อสู่มอเตอร์เวย์ไปยังพื้นที่อีอีซีได้สะดวก อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป การพัฒนาโครงการนี้สอดคล้องกับความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทข้ามชาติ และการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ. ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต