รัฐสั่งศึกษาแผนพัฒนาอุตฯ ต่อเนื่องพลังงานในเซาเทิร์นซีบอร์ด-แลนด์บริดจ์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 22, 2008 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยเตรียมศึกษาโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้(Southern Seaboard) และสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งตะวันตก-ตะวันออก (Land Bridge)เพื่อจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน เล็งดึงต่างชาติเป็น Strategic partner ให้มากที่สุด
"แผนพัฒนาฯ เป็นส่วนที่สำคัญมากในโครงการ Southern Seaboard และ Land Bridge เนื่องจากสภาพัฒน์(สำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้ประกาศว่าอุตสาหกรรมด้านพลังงานจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาโครงการนี้" นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ร่วมกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ บมจ.ปตท.(PTT) ศึกษาแผนดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่จะเป็น Lead Industry ในพื้นที่ Southern Seaboard โดยใช้เวลาศึกษาราว 1 ปีครึ่ง
การศึกษาจะเริ่มจากการทำแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 ซึ่งต้องกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนให้ชัดเจนว่าจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหมือนปิโตรเคมีระยะที่ 3 หรือจะใช้วัตถุดิบที่มาจากน้ำมัน, ศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ระยะการคืนทุนนาน การแข่งขันสูงว่าจะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่
รวมถึง การก่อสร้างคลังน้ำมัน 2 ฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทย และอันดามัน เพื่อเป็นจุดกักเก็บน้ำมันที่จะผ่านท่อส่งน้ำมันเชื่อมเส้นทางสองฝั่งทะเลตะวันตก-ตะวันออก, การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและท่อส่งน้ำมัน, ท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือน้ำมันขนาดใหญ่ และโอกาสการทำ Energy Trading ในพื้นที่ดังกล่าว
นายพรชัย กล่าวว่า จะนำแผนงานที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 3 ปีก่อนมาทบทวนและปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเดิมจะมีการลงทุนก่อสร้าง Tank Capacity ขนาด 5 ล้านบาร์เรลฝั่งทะเลละ 1 คลัง, ทำ Refinery&Petrochemical Complex, ทำ Strategic Crude Stockpiling, ทำ Oil&Petrochemical Trading centre for BIMST-EC, ทำ Marine Maintenance/repair Facilities และท่อส่งน้ำมันระยะทาง 240 กิโลเมตร กำลังการจัดส่งน้ำมันขนาด 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเล โดยใช้เงินลงทุนสำหรับทำ Facilities รองรับการลงทุนนี้ประมาณ 719 ล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัท ดูไบ เวิลด์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์(ยูเออี) ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลยูเออีจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์การของรัฐในการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลไทยในการศึกษาแผนงานดังกล่าว
"การที่ดูไบเวิลด์เข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า และเป็นกลยุทธ์อันหนึ่งในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่นให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย เหมือนกับโครงการ Eastern Seaboard ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเช่นกัน" นายพรชัย กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมี Partner จากต่างชาติเข้ามาลงทุนให้มากๆ ซึ่งจะดูได้จากการทำโครงการ Sri-racha Hub ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มี Strategic Partner เข้ามาร่วม
สำหรับแนวแลนด์บริดจ์เดิมศึกษาไว้ 2 เส้นทางคือ ขนอม-พังงา และ ขนอม-กระบี่ แต่ติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ต่อมากรมขนส่งทางน้ำและการพาณิชย์นาวีได้ศึกษาแนวเส้นทางที่ 3 คือ สงขลา-สตูล
ด้านนายอำพน กิติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เดิมเคยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กที่จะเชื่อมไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ พื้นที่ที่เหมาะสมคือภาคใต้ตอนบน บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คือ กระบี่ พังงา และภูเก็ต, อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและพืชพลังงาน พื้นที่เหมาะสมคือ นครศรีธรรมราช และสงขลา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน พื้นที่ที่เหมาะสม คือ สงขลา ปัตตานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ