ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด Q1/51 GDP โต 6% แต่ Q2/51 ชะลอตัวเหลือ 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 23, 2008 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของไทยในไตรมาส 1/51 จะขยายตัว 6.0% จาก 5.7% ในไตรมาส 4/50 โดยเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีแรงหนุนจากความชัดเจนทางการเมืองในประเทศหลังจัดตั้งรัฐบาลและการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ 
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนอาจขยายตัว 5.6% และการลงทุนอาจขยายตัว 8.0% ขณะที่ภาคการเกษตรยังได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ส่วนการนำเข้าเร่งตัวขึ้นมากตามภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ไตรมาส 1/51 การส่งออกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยจะขาดดุลในไตรมาสแรก แต่ฐานะดุลบริการที่เข้มแข็งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล
สำหรับแนวโน้ม GDP ในไตรมาส 2/51 คาดจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจขยายตัวใกล้เคียง 5.0% จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดไปยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังคงมีระดับสูงไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาส 3 แต่เศรษฐกิจภายในประเทศยังมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรและภาคเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องอันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51จะขยายตัวประมาณ 4.9%
"เศรษฐกิจไทยในระยะเวลาที่เหลือมีประเด็นสำคัญต้องติดตาม คือทิศทางราคาน้ำมัน ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก โดยด้านสถานการณ์ทางการเมืองนั้น การพิจารณาตัดสินกรณียุบพรรคการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทบต่อความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
พร้อมมองว่า การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากด้านอุปทาน(Cost-Push Inflation)ที่ต้นเหตุได้โดยตรง แต่อาจเป็นแนวทางที่ถือได้ว่าเป็นการดูแลเสถียรภาพราคาในระยะถัดไป เพื่อสกัดกั้นโอกาสที่สถานการณ์เงินเฟ้อจะยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก อันจะนำไปสู่จุดเสี่ยงที่หนทางแก้ปัญหายิ่งจะยากลำบากมากขึ้น
ทั้งนี้หากราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ รัฐบาลอาจต้องหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแต่ก็อาจกระตุ้นเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีก ดังนั้นในภาวะน้ำมันแพงเช่นนี้มาตรการที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง และการเร่งปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ