นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวช้าเกินคาดในไตรมาสแรก หลังภาคการส่งออกหดตัวลงเนื่องจากอุปสงค์จากทั่วโลกลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะหนุนให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป
เมื่อเดือนที่ผ่านมา อัตรเงินเฟ้อของสิงคโปร์ทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี ที่ 7.5% อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับทั้งปีเป็น 5-6% จากเดิมที่ 4.5-5.5%
"อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ซึ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก" คิต เหว่ย เจิน นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ป กล่าว
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสิงคโปร์มีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการขยายตัว 7.2%
รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงคาดการณ์การขยายตัวจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 4-6% แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของ 4 ปีที่ผ่านมาที่ 8.1%
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกสำหรับทั้งปีเหลือ 2-4% จากเดิมที่ 4-6% หลังยอดส่งออกแทบไม่กระเตื้องขึ้นเลยในไตรมาสแรก หลังอุปสงค์จากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เกิดการชะลอตัวลง
"เศรษฐกิจที่ขยายตัวน้อยเกินคาด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวมากเกินไป แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะไม่สดใสเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว" คิต เหว่ย เจิน กล่าว สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียล รายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--