สภาพัฒน์ หนุนคงอัตราดอกเบี้ยพยุง ศก./ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2008 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เห็นว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.25% ไว้ต่อไปในระยะนี้มองว่ามีความเหมาะสม ซึ่งหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลที่จะต้องแลกกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
"กนง.ควรพิจารณาความสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อกับความเป็นจริงที่จะต้องแลก โดยหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ต้องแลกต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจและรายได้ในขณะนี้...เศรษฐกิจไทยมีหลายเสาที่ค้ำยันอยู่ ทั้งส่งออก ลงทุน บริโภค เรื่องดอกเบี้ยเป็นเหมือนไม้แปรที่ยึดให้หลังคาค้ำอยู่ได้ หากขยับไปตัวหนึ่งอาจเกิด side effect มากกว่าที่เราคิด"เลขาฯ สภาพัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอยู่ในปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นด้านอุปทาน คือ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงและค่าน้ำมัน ไม่ใช่การปรับตัวเพิ่มขึ้นจากด้านอุปสงค์
นายอำพน มองว่า หาก กนง.ตัดสินใจเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ผิดพลาด อาจจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน และชะลอรายได้ของประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้หัวใจที่สำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคือเน้นด้านการเพิ่มรายได้ เพราะการปรับลดราคาสินค้าคงเป็นไปได้ยากเนื่องจากต้นทุนเป็นไปตามภาวะราคาในตลาดโลก
เลขาฯ สภาพัฒน์ กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบในปีนี้ยังเฉลี่ยไม่เกิน 120 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5.3-5.8% เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.2-3.7% เนื่องจากภาวะราคาน้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอาหาร และวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะที่เงินบาทเริ่มมีสัญญาณอ่อนค่าลง
"คาดว่าไตรมาสที่ 2 อัตราเร่งของเงินเฟ้อจะยังสูงต่อไปจนถึงไตรมาส 3 และจะเริ่มแผ่วลงในไตรมาสที่ 4 ถ้าราคาน้ำมันไม่ทะลุเกินไปกว่า 120 เหรียญ/บาร์เรล"นายอำพน กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ทุกคนในประเทศจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งการหวังเพียงมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องเป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชนในเรื่องของการประหยัดพลังงานด้วยเช่นกัน รวมทั้งช่วยเหลือลดผลกระทบที่มีต่อผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
อนึ่ง สภาพัฒน์ ปรับสมมติฐานราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปีนี้มาที่ 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล จากสมมติฐานเดิมอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และจาก 68.83 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ