สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แถลงว่า เศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1/51 ขยายตัวในระดับ 6% เพิ่มขึ้นจาก 5.7%ในช่วงไตรมาส 4/50 เป็นผลจากการขยายตัวที่ดีขึ้นของหลายสาขาการผลิตที่เป็นฐานที่กว้างขึ้น โดยสาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 9.7% ตามภาวะการส่งออกที่ยังขยายตัวดี และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ผลผลิตการเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/50
ด้านโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร็วขึ้น 8.8% เป็นผลจากการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น 13.3% สาขาการเงินขยายตัวได้สูงกว่าปีก่อนอย่างชัดเจนจากการขยายสินเชื่อ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับผลตอบแทนจากกการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น
"ปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรก คือ การปรับเพิ่มเงินเดือนและค่าจ้างขั้นต่ำ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวดีและสนับสนุนการส่งออกของไทย อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว" นายอำพน ระบุ
นายอำพน กล่าวว่า การผลิตที่ขยายตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 1/51 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 2.6% และการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.9% แม้จะเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นมีส่วนชดเชยมูลค่าได้ ซึ่งไตรมาสนี้มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 21.1%
สำหรับข้อจำกัดของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว คือภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน ทั้งที่เป็นค่าน้ำมัน ค่าเดินทางโดยตรง และกระทบผ่านทางราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นหมวดการใช้จ่ายจำเป็นของประชาชน
อย่างไรก็ดี ภาพรวมไตรมาส 1/51 เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากได้ทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% สูงขึ้นจากไตรมาส 4/50 ที่อยู่ที่ 2.9% และทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือ 3,068 ล้านดอลลาร์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเกินดุลบัญชีอยู่ที่ 4,689 ล้านดอลลาร์
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--