(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 51 โต 4.5-5.5% ห่วงความเชื่อมั่นยังเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2008 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/51 ไว้ที่ 4.5-5.5% แม้ไตรมาสแรกจะเติบโตได้ดีและมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความเชื่อมั่นที่ยังไม่แน่นอนเป็นตัวถ่วงให้สภาพัฒน์ไม่กล้าปรับเพิ่มประมาณการไปมากกว่านี้ ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อขึ้นมาสูงถึง 5.3-5.8% จากปัจจัยเรื่องน้ำมัน
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าราคาน้ำมันและเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจไตรมาสแรกยังขยายตัวได้สูงถึง 6% จากการใช้จ่ายและการลงทุนของเอกชนที่ฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งฐานรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในส่วนของราคาสินค้าเกษตรและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
"การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นแรงส่งให้กับระบบเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยภายในประเทศที่สนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี" นายอำพน กล่าว
ดังนั้น สภาพัฒน์จึงมองว่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)ปี 51 มีโอกาสสูงถึง 80% ที่จะขยายตัวได้มากกว่า 5.0% แต่ยังไม่กล้าปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 5.0-6.0% เป็นเพราะยังมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงยังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 4.5-5.5%
"ปัจจัยเสี่ยงเรื่องความเชื่อมั่นถ้ายังมีอยู่ในสมการเศรษฐกิจ สภาพัฒน์จึงยังคงจีดีพีไว้ที่ 4.5-5.5% จนกว่าเราจะเห็นความคลี่คลายเหมือนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้มีโอกาสมากถึง 80% ที่จะเห็นจีดีพีปีนี้โตเกินกว่า 5% ก็ตาม" นายอำพน กล่าว
เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในบางไตรมาส GDP ได้เคยปรับตัวลดลงจาก 6.3% มาอยู่ที่ 4.1% ทั้งที่ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะราคาน้ำมันไม่ได้เป็นตัวกดดัน
ดังนั้น จากสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันสภาพัฒน์ฯ จึงเป็นห่วงว่าจะมีปัจจัยที่อยู่นอกสมการทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกดดันการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้
"เรื่องความเชื่อมั่น(ผลจากการเมือง)เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเป็นห่วง และจากที่ดูประวัติศาสตร์ของเรามันเคย drop ลงได้จาก 6.3% มาเหลือ 4.1%ทั้งที่ปัจจัยภายนอกไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก คือ น้ำมันก็พุ่งตอนช่วงนั้น แต่มันสามารถทำให้ investment กับ consumption หยุดไปได้เลยทีเดียว" นายอำพน กล่าว
แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 51 คาดว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แต่การส่งออกชะลอตัว แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร, การปรับเพิ่มเงินเดือนภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ และค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนการดำเนินมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สภาพัฒน์ตั้งสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกในปี 51 จะขยายตัว 3.8% ชะลอลงจาก 4.9% ในปี 50 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสมมุติฐานเดิมที่ 4.1% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจาก 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรลที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.3-5.8% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2% ต่อจีดีพี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ตามเป้า 15.7 ล้านคน
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น, ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มเกินดุลลดลงจากการขาดดุลการค้า, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาซับไพร์ม
"ในช่วงที่เหลือของปี 51 รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการบริหารความเสี่ยงและลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากจากที่คาดการณ์ไว้เดิม"นายอำพน กล่าว
สภาพัฒน์ ระบุว่า ในระยะสั้นรัฐบาลต้องบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง รณรงค์การประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเร่งรัดการใช้พลังงานทดแทน ส่วนในระยะยาวต้องดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งและกระจายสินค้า และระบบขนส่งมวลชนให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งติดตามผลมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการของเอสเอ็มอี การยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัย การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนเร่งรัดส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ