นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นไปสูงกว่าระดับล่าสุดในเดือน เม.ย.ที่ 6.2% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีมีโอกาสปรับขึ้นไปสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่เดิมในระดับ 5.0-5.8% ประกอบกับกระแสโลกที่ทุกประเทศมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะทำให้ดอกเบี้ยในประเทศไทยต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
"บางเดือนคาดว่าอาจจะเป็น มิ.ย.-ก.ค.-ส.ค.เงินเฟ้ออาจจะสูงกว่า 6.2% เพราะสินค้าอีกหลายรายการกำลังจะทยอยขึ้นราคา ค่าจ้างที่ปรับไปแล้วจะมีผล มิ.ย. ค่าโดยสาร ราคาน้ำมัน จะมีผลส่งผ่านกลับมา ราคาสินค้าหลายตัวที่รอกระทรวงพาณิชย์อนุมัติ โดยเฉพาะเหล็กเส้น" นายเชาวน์ กล่าว
ดังนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจต้องพิจารณาทบทวนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 51 ซึ่งปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไปสูงกว่าที่คาดไว้มาก โดยปรับขึ้นไปแถว ๆ 130 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว และยังมีผู้คาดการณ์ว่าอาจจะไปถึง 150 ดอลลาร์/บาร์เรลก่อนสิ้นปีนี้ โดยศูนย์วิจัยฯ จะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.ว่ามีโอกาสหลุดจากกรอบขั้นสูงที่ 5.8% มากน้อยเพียงใด
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น นายเชาว์ กล่าวว่า ดอกเบี้ยทั่วโลกมีทิศทางขาขึ้น อย่างธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ธนาคารกลางยุโรป(ECB)อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ก็บอกชัดว่าเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สะท้อนความกังวลและความคาดการณ์ของผู้ฝากว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น อย่างกรณีของหุ้นกู้ที่กำหนดอกเบี้ยในลักษณะ floating rate ผูกกับดอกเบี้ยฝาก ซึ่งจะทำให้ผู้ฝากไม่ต้องกังวลว่าจะเสียโอกาสหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
นายเชาว์ กล่าวว่า จังหวะสำคัญคือการประชุม กนง.ใน 2 รอบข้างหน้า ในเดือน ก.ค.และ ส.ค.ซึ่งช่วงนั้นเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้น จะมีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนขึ้นหรือไม่ หรือจะมีการดำเนินการอย่างใดเกิดขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--