ที่ประชุมรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจค่ำวันนี้เห็นชอบในเบื้องต้นมาตรการลดผลกระทบค่าพลังงาน มาตรการเสริมรายได้และเพิ่มค่าครองชีพให้กับประชาชน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่ามาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวที่จะทยอยนำออกมาใช้จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยในปี 51 ขยายตัวได้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เชื่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้น่าจะมีการเติบโตที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ แม้ขณะนี้จะมีปัจจัยหลักสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ GDP คือ ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง
กรณีที่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นตนเห็นด้วยในส่วนนี้ เพียงแต่ยังเชื่อว่ามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงาน ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การบรรเทาภาวะค่าครองชีพจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้
"ถ้ามีมาตรการที่ช่วยลดผลกระทบด้านพลังงาน มาตรการเพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้ยากจน อัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เราน่าจะสามารถผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจสืบเนื่องต่อไปได้ เพราะผมเองก็อยากเห็นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ" นพ.สุรพงษ์ กล่าวภายหลังการประชุม
วันนี้ สศช.แถลง GDP ไตรมาส 1/51 ขยายตัวที่ 6.0% อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 5.0% ในขณะที่คาดว่า GDP ทั้งปี 51 จะขยายตัว 4.5-5.5% และอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 5.3-5.8%
อย่างไรก็ดี ในการประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้มาตรการที่สำคัญที่ได้มีการพิจารณา คือ มาตรการประหยัดพลังงานหลายรูปแบบ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการนำพลังงานทดแทนมาใช้แทนน้ำมัน โดยเฉพาะก๊าซ NGV และ เบนซิน E85 รวมทั้งการกำหนดบทบาทภาครัฐเป็นตัวนำร่องดำเนินมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งมาตรการที่ช่วยเพิ่มรายได้กับประชาชนเพื่อรองรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--