ทริส มองไทยมีสิทธิถูกลดเครดิตหากการเมืองวุ่นบานปลายซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 27, 2008 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยมีโอกาสจะถูกบั่นทอนลงจากปัญหาการเมืองที่เกิดความขัดแย้งกันในขณะนี้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมือนในอดีตที่ปัจจัยเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง แต่ตอนนี้มีความเสี่ยงหลายด้าน
ในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา 2 สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลกทั้ง 3 แห่งคงอันดับเครดิตประเทศไทยที่ BBB+ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งการชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรี ปัญหาการฆ่าตัดตอน เหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร หรือการวางระเบิดในกรุงเทพและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากประเทสไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข้มแข็ง
แม้ในช่วง 1-2 ปีจะเห็นการชะลอตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดี
แต่ ณ วันนี้ เริ่มมีบางค่ายที่มองว่าหากการเมืองไทยยังมีความขัดแย้งต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลให้ต้องพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตของประเทศลงได้ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประเทศ แม้ว่าปัญหาการเมืองจะเกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน แต่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มไม่เหมือนเดิม จากปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง หากการเมืองเลวร้ายลงในระดับหนึ่งก็จะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น
นายวรภัทร กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อปีนี้ว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเ้ฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 5-5.5% หากดูย้อนหลัีงในอดีตจะเห็นว่า เคยสูงถึง 5.1% มาแล้ว ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยอยู่ที่ 8-10% ถือว่ายังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ และสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อเกิดจากดีมานด์ซึ่งสามารถแก้ได้โดยการเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อลดดีมานด์ลง แต่ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP ซึ่งมีผลกระทบที่แตกต่างกัน
ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังมาจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากและลำบาก และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไ้ดตามเป้าหมายจะต้องทำในหลายๆด้านควบคู่กัน เช่้น การผลักดันโครงการใหญ่ๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง การสร้างความเชื่อมั่นใ้ห้ผู้บริโภค ให้การบริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนขยายตัวด้วย
"ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีนี้โตได้ 5% ยกเว้นว่าจะเห็นสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าที่คาดการณ์ไว้"นายวรภัทร กล่าว
ปัจจุบันดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ทำให้การออกตราสารหนี้น้อยลงกว่าที่คาด แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้งปีน่าจะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 1.5-2 แสนล้านบาท โดยจะเห็นว่า 5 เดือนแรก มีการออกตราสารหนี้ไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท ดังนั้น 7 เดือนที่เหลือน่าจะมีการออกได้ 1.6-1.7 แสนล้านบาท โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่ระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ คือ ธนาคารพาณิชย์
ในส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ขนส่ง และเดินเรือ แต่ทางทริส ได้ปรับลดอันดับเครดิตตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ซึ่งมีการรับรู้ไปแล้ว ดังนั้นไม่น่าจะกระทบมากในแง่เรตติ้งบริษัทเหล่านี้ที่จะมาออกตราสาร

แท็ก เครดิต  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ