สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง แต่การนำเข้าและราคาสินค้าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง แต่เสถียรภาพในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
"เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2551 ยังคงขยายตัวได้ดี...เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี" นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค.ระบุในเอกสารเผยแพร่
โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่องซึ่งดูได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว 12.2% ต่อปี เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 50 ส่งผลให้ปริมาณยอดขายรถจักรยานยนต์ขยายตัว 7.6% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ 34.05 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคด้านสินค้าคงทนจากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัว 13.7% ต่อปี แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีสัญญาณปรับลดลงตามปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นมากซึ่งดูได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวสูงมากที่ 44.6% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวในระดับสูงมากที่ 25.1% และ 18.4% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวได้ดีที่ 8.2% ต่อปี
ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้สุทธิ 127.1 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ 48.4% ต่อปี เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีฐานต่ำเพราะต้องจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรายได้ภาษีจาก 3 กรมจัดเก็บได้รวม 119.8 พันล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 11.7% ต่อปี ขณะที่รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.6 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ 33.5% ต่อปี เนื่องจากโอนเงินงบรายจ่ายลงทุนให้แก่ อปท. ขณะที่รายจ่ายประจำยังขยายตัวได้ดีที่ 7.4% ต่อปี ตามการขึ้นเงินเดือนราชการ ส่งผลให้รายจ่ายรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 51 (ต.ค.50-เม.ย.51) ขยายตัวสูงที่ 11.7% ต่อปี
แม้การส่งออกขยายตัวในระดับสูง แต่การนำเข้าขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า ทำให้ดุลการค้าขาดดุล โดยมูลค่าส่งออกสินค้ารวมในเดือน เม.ย.51 อยู่ที่ 13.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 27.0% ต่อปี โดยสินค้าส่งออกทุกหมวดขยายตัวสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นการขยายตัวของการส่งออกในทุกตลาดสินค้า โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และตลาดภูมิภาค เช่น จีน อินโดนิเซีย และเวียดนาม
ส่วนการนำเข้าเร่งตัวขึ้นมากตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ดีขึ้นและราคาสินค้าเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมูลค่านำเข้าสินค้ารวมในเดือน เม.ย.51 อยู่ที่ 15.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 44.4% ต่อปี โดยมูลค่านำเข้าที่ขยายตัวสูงนี้เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนั้นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นถึง 88.1% ต่อปี ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลที่ -1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นางพรรณี กล่าวว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรเริ่มชะลอตัวลง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 14.2% ต่อปี
สำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน เม.ย.51 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 109.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า ขณะที่เสถียรภาพในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 6.2% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น, อัตราการว่างงานเดือน มี.ค.ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวม, สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ณ เดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่ 36.9% ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ 50.0% ของ GDP ค่อนข้างมาก
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--