KBANK ตั้งเป้าปล่อยกู้ SME ซื้อเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพ 5 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 28, 2008 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

        นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดโครงการสินเชื่อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกสิกรไทย (K-SME Machine Credit) เพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่เอสเอ็มอีนำไปพัฒนาเครื่องจักร การปรับปรุงเครื่องจักรเดิมหรือการติดตั้งเครื่องจักร โดยตั้งวงเงินรวม 5 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับการสนับสนับสนุนทางการเงินจากโครงการนี้ประมาณ 220-250 ราย 
โครงการดังกล่าว จะให้การสนับสนุนสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีรายละ 5-50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำระหว่าง MLR-2.25% ถึง MLR+1% โดยสามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน
สำหรับการขอสินเชื่อที่มีระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี และกู้ได้สูงสุด 80% ของราคาประเมิน สำหรับสินเชื่อที่มีระยะเวลาการผ่อนชำระมากกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี โดยสามารถนำเครื่องจักรที่ตั้้งอยู่บนที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
สำหรับเอสเอ็มอีที่จะขอสินเชื่อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกสิกรไทย จะต้องเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่มียอดขายไม่ต่ำกว่า 50ล้านบาทต่อปี หรือเป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรสุทธิ ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือมีแรงงานไม่เกิน 200 คน
ทั้งนี้ธนาคารฯ มีข้อเสนอพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ 100 รายแรก และได้รับอนุมัติสินเชื่อจะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 10,000-20,000 บาท พร้อมทั้งส่วนลด 10% สำหรับค่าเบี้ยประกันเครื่องจักรเสียหาย (Machinery Breakdown) รวมถึงประกันอัคคีภัยอาคารโรงงานที่เครื่องจักรตั้งอยู่จากภัทรประกันภัย
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกสิกรไทย จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเอสเอ็มอีของไทย เนื่องจากขณะนี้เอสเอ็มอีกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง ภาวะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากน้ำมันราคาแพง ค่าแรงเพิ่ม ตลอดจนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยทั่วไป
แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดยการปรับปรุง พัฒนาเครื่องจักรเก่าที่มีอยู่ หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น และลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ