นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกวดขันดูแลการจัดเก็บค่าโดยสารให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และการให้บริการเดินรถของผู้ประกอบรถร่วมเอกชนตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน หลังมีข่าวผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนบางรายจะหยุดให้บริการโดยอ้างว่าไม่คุ้มต้นทุน พร้อมประสานให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จัดรถไปวิ่งให้บริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วย
"หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดลดเที่ยววิ่งจนไม่เป็นไปตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ และขอให้กรมขนส่งทางบกประสานไปยัง ขสมก.ให้นำรถไปวิ่งเสริมด้วย" นายทรงศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งจะได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
"จะทำอะไรให้ทุกฝ่ายพอใจ 100% คงทำไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมกำลังหาทางให้ความช่วยเหลืออยู่ ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการจะหยุดเดินรถเพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวนั้นขอให้อดทนเพื่อให้สังคมสงบและไม่เกิดความวุ่นวาย" นายสันติ กล่าว
ขณะที่ นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า สมาชิกของสมาคมฯ มีมติว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะราคาน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนแล้ว
นอกจากนั้น สมาคมฯ จะทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อขอให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ขอสนับสนุนน้ำมันฟรี, ขอยกเว้นจ่ายค่าตอบแทนให้กับ ขสมก. ในอัตรารถโดยสารธรรมดาคันละ 35 บาท/วัน รถปรับอากาศคันละ 60 บาท/วัน โดยจะขอฟังคำตอบจากกระทรวงคมนาคมทันที
"หากกระทรวงคมนาคมยังขอเวลาพิจารณาหรือไม่มีความชัดเจนในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่ใช้รถโดยสารน้ำมันดีเซลจำนวนประมาณ 8 พันคันจะหยุดให้บริการเดินรถทันที และนำรถมาจอดที่หน้ากระทรวงคมนาคม" นายฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพยายามให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็นในปริมาณเท่าเดิม และเพียงพอกับจำนวนประชาชน แต่ระหว่างวันคงต้องลดปริมาณเดินรถลง และคาดว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการคงไม่สามารถจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ ขสมก.ได้ต่อไป
นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานชมรมรถร่วมบริการ ขสมก. เปิดเผยว่า ชมรมฯ มีรถให้บริการ 5 พันคัน ซึ่งขณะนี้เริ่มลดให้บริการเที่ยววิ่งในช่วงเวลากลางวันแล้ว โดยเฉลี่ยขณะนี้มีรถให้บริการประมาณ 30% เท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนัก เพราะลดเที่ยววิ่งในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารน้อย
"หากภาครัฐจะนำสัญญาสัมปทานมาบังคับผู้ประกอบการให้วิ่งบริการนั้นไม่เป็นธรรม และเป็นการบังคับผู้ประกอบการเกินไป เนื่องจากต้นทุนเดินรถสำหรับรถธรรมดาอยู่ที่คนละ 14 บาท แต่สามารถเก็บค่าโดยสารได้เพียง 7 บาท" นายบรรยงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะทางหมายเลขโทร 1584 ของกรมการขนส่งทางบกว่า มีรถร่วมบริการฯ กว่า 20 เส้นทางยังจัดเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--