มอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า ราคาพลังงานได้พุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมัน และอาจส่งผลเกี่ยวเนื่องให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้
Abhijit Chakrabortti หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนกล่าวว่า "การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมัน ประกอบกับการกระตุ้นนโยบายการเงินและการคลังในสหรัฐ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อและช่วยให้บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นคึกคัก"
โดยเขากล่าวว่า ในยามที่ความต้องการพลังงานในสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลง ปัจจัยสำคัญที่ตลาดน้ำมันกำลังเผชิญอยู่ก็คือการให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาลในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเขามองว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายแห่งจะไม่สามารถให้เงินอุดหนุนด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยชี้ว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน กำลังปล่อยให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการจ่ายเงินอุดหนุนลง
"จากการคำนวณของเราพบว่า ราคาน้ำมันที่ระดับ 133 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นสัดส่วนที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อระดับอุปสงค์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2523" นาย Chakrabortti กล่าว "ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นล่าสุดจนส่งผลให้มีการยอมปล่อยราคาเชื้อเพลิงในอินเดียและจีนอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการเริ่มโยกย้ายฐานการลงทุนในตลาดน้ำมันไปยังตลาดหุ้นมากขึ้น"
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่าสุดดิ่งร่วงลง 2.24 ดอลลาร์ ไปแตะที่ระดับ 129.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถอยรูดลงจากระดับสูงสุดของวันที่ 133.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 135.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--