องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ระบุในรายงานเรื่องแนวโน้มการเกษตรในปี พ.ศ.2551-2560 ที่จัดทำร่วมกับ UNFAO ชี้ว่า ราคาอาหารจะลดลงหลังจากที่ดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในปัจจุบัน แต่จะยังคงอยู่เหนือระดับเฉลี่ยของเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า เมื่อราคาอาหารปรับตัวลงหลังจากดีดตัวแตะระดับสูงสุดแล้ว ในระยะกลางราคาอาหารจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยราคาอาหารที่สูงขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ดังนั้นในระยะต่อไปราคาอาหารจะค่อยปรับตัวลง แต่ก็มีปัจจัยประเภทถาวรต่างๆที่ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมือง และสภาพอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการอาหารในประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้น โดยการผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซลก็ทำให้ความต้องการวัตถุดิบที่มาจากอาหารสูงขึ้นเช่นกัน
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า OECD ระบุว่า ราคาน้ำมันพืชมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นถึง 80% ในปี 2551-2560 เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนเนยและเมล็ดพืชที่ให้น้ำมันจะมีราคาแพงขึ้นกว่า 60% ข้าวสาลี แป้งข้าวโพด และนมผงสกัดไขมันจะสูงขึ้น 40-60% ส่วนน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลดิบจะสูงขึ้นประมาณ 30% เนื้อวัวและเนื้อหมูจะสูงขึ้น 20%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--