(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุศก.เม.ย.เติบโตดี แต่น้ำมันบั่นทอนเสถียรภาพ-เงินเฟ้อกดดันเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2008 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย.51 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน แต่มีสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นตัวบั่นทอนเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวและดุลการค้าขาดดุลกดดันความเชื่อมั่น
"ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นบั่นทอนเสถียรภาพทั้งในและนอกประเทศ เงินเฟ้อเร่งตัวสูง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล กดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ"นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวในการแถลงข่าววันนี้
ธปท.ระบุว่า ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาด้านอุปทานขยายตัวตามผลผลิตพืชผลหลักที่กลับมาขยายตัวได้ดี ประกอบกับราคายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง และด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดี
เสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แต่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก แม้มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี ด้านเสถียรภาพในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อน
นางอมรา กล่าวว่า มูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก ที่สำคัญมาจากผลของการนำเข้าน้ำมัน โดยในเดือนเม.ย. 51 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 103 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล จากเดือนเม.ย.50 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล หรือสูงขึ้นถึง 61.9% โดยสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันคิดเป็น 23% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการนำเข้าทองคำที่สูงถึง 616% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นางอมรา กล่าวว่า สาเหตุที่การนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เนื่องจากฐานของเดือนเม.ย.50 ต่ำ แต่ไม่น่ากังวลเพราะมูลค่านำเข้าทองคำคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
"การนำเข้าทองคำในเดือนเม.ย.ที่ดูว่าอัตราการขยายตัวสูงนั้นเป็นเพราะเดือนเม.ย. 50 ฐานต่ำ ซึ่งถ้่าหักการนำเข้าทองคำออกแล้วจะทำให้การส่งออกดีขึ้นหรือไม่นั้น คงไม่มากเพราะสัดส่วนน้อย แต่ตัวที่ทำให้ดุลการค้าแย่จริงๆ คือ น้ำมัน" นางอมรา กล่าว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/51 ขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้มาก แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาถือว่าในส่วนของภารผลิตน่าจะโตต่อได้ รวมถึงภาคการเกษตร การส่งออก แต่สิ่งที่ห่วง คือ ดุลการค้า ที่เกรงว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้น
"แต่ที่ห่วงคือว่า ถ้า Term of Trade ที่เราเสียไปเรื่อยๆ อาจะทำให้ภาคการค้าที่เราหวังจะเป็น Income ที่จะเข้าอาจจะน้อยลง และจะกลับไปกดดันเงินเฟ้อได้" นางอมรา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ