เควิน ไหล นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยไดวา กล่าวว่า จีนอาจต้องเสียศูนย์มากขึ้นหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง เพราะเหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะสร้างแรงกดดันให้กับธนาคารมากขึ้นในด้านการปล่อยเงินกู้ เพื่อการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น
"การที่ธนาคารกลางจีนไม่ได้ดำเนินการที่แข็งแกร่งใดๆ จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปรับฐานในที่สุด โดยปัญหาต่างๆที่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างล่าช้าเท่าใด ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาในท้ายที่สุดจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานและเจ็บปวด
ยุครุ่งเรืองในเอเชียเมื่อทศวรรษที่ 80 และช่วงต้นของทศวรรษที่ 90 นั้นสิ้นสุดลงเพราะเงินบาทที่อ่อนค่าลงในปี พ.ศ.2532 ซึ่งฉุดให้สกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคร่วงลง และทำให้นักลงทุนต่างชาติเร่งขนเงินออกจากภูมิภาค
ปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่างๆในเอเชียมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นในการควบคุมราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น และการควบคุมการขยายตัวของเงินเฟ้อ มาเลเซียและฟิลิปปินส์พยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การพึ่งพาการควบคุมราคาสินค้า และการให้เงินอุดหนุนก็มีส่วนช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศจีน ไทย ฟิลิปปินส์ และประเทศต่างๆในเอเชียอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ว่า ราคาสินค้าจะยิ่งถีบตัวเร็วขึ้นและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไปและทำให้เกิดภาวะตกต่ำลงในที่สุด
ไซเลช จา นักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ส กล่าวว่า เมื่อใดที่มีการใช้มาตรการรับมือเงินเฟ้ออย่างชัดเจน นักลงทุนคงจะหันมามองการเติบโตของธุรกิจในเอเชียอีกครั้ง และตระหนักว่า เอเชียไม่ได้มีการขยายตัวอย่างสดใสอย่างที่เห็น ความเชื่อมั่นมีแนวโน้มลดลง และคงจะมีการปรับฐานด้านราคาสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หลักทรัพย์และเงินทุนไหลออก
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะ 6.2% ส่วนธนาคารกลางจีนได้ประกาศไปเมื่อต้นเดือนธ.ค.ว่า จะเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 7.47% นับตั้งแต่สิ้นปี 2550 แม้ว่าเงินเฟ้อจะทะยานแตะระดับ 8.5% ซึ่งเป็นสถิติที่อยู่ใกล้กับระดับสูงในรอบ 12 ปี สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--