ธปท.ยกเครื่องกม.สถาบันการเงิน เปิดช่องทางแบงก์ปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 2, 2008 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า  ธปท.จะยกเลิกประกาศต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจำนวน 501 ฉบับ และรวบรวมประมวลใหม่ให้เหลือเพียง 101 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีเพียงบางส่วนที่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวะทางธุรกิจปัจจุบันมากขึ้น 
ในวันนี้ ธปท.ได้เชิญตัวแทนสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 42 แห่ง จำนวน 250 ราย เพื่อชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับสถาบันการเงิน ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ส.ค.นี้
สำหรับประเด็นสำคัญที่แก้ไขเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความเสี่ยงและความมั่นคงของสถาบันการเงิน เช่น กรณีให้สินเชื่อกับลูกหนี้รายใหญ่สำหรับธนาคารพาณิชย์จะกำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 แต่หลักเกณฑ์ใหม่สามารถปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ได้ 25% ของเงินกองทุนขั้น 1 และขั้นที่ 2 รวมกัน
ส่วนธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เดิมสามารถปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) สำหรับลูกค้ารายใหญ่ได้ไม่เกิน 10% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 และให้สินเชื่อกับประชาชนที่มีหลักประกันได้ไม่เกิน 1% ส่วนประชาชนที่ไม่มีหลักประกันสามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 0.05% เท่านั้น
แต่หลักเกณฑ์ใหม่การปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีสามารถปล่อยได้ 10% ของเงินกองทุนขั้นที่1 และขั้นที่ 2 และการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันสามารถปล่อยได้ไม่เกิน 1%
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลของสถาบันการเงิน จากเดิมที่ไม่เคยมีข้อกำหนดใดๆ ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้สง.ต้องระบุวงเงินของเงินต้นในการทำสัญญาค้ำประกัน หรือห้ามทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน และต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้ค้ำประกันทราบด้วย กรณีที่สง.ยอมผ่อนผันเวลาให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน 6 เดือน
ธปท.ยังได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของความเสี่ยงด้านปฏิบัติการเรื่อง บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นสถาบันการเงิน ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมได้ห้ามผู้ใดถือหุ้น สถาบันการเงิน เกิน5% ยกเว้นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่หลักเกณฑ์ได้ขยายให้สามารถถือหุ้นสถาบันการเงินได้ถึง 10% โดยมีข้อยกเว้นให้กับหน่วยงานราชการตาม พรบ.เดิม และยกเว้นให้กับบุคลอื่นๆ ที่ ธปท.อาจพิจารณายกเว้นเป็นรายกรณีไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ