ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) สกุลเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่น่ากังวลเนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.5454 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.5542 ดอลลาร์/ยูโร เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9647 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9672 ดอลลาร์/ปอนด์
หากเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังค์สวิส ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 105.21 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 104.46 เยน/ดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0436 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0370 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.7825 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7849 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.9542ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9552 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เบอร์นันเก้เฟดกล่าวในที่ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมในเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้งและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความยากลำบากจากราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง อีกทั้งกล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่เผชิญกับแรงกดดันด้านราคา ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
นายเดวิด โซลิน นักวิเคราะห์จาก ฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติก ในรัฐคอนเนกติกัตกล่าวว่า "การแสดงความเห็นของเบอร์นันเก้สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการเฟดกังวลและหาทางสกัดกั้นให้เร็วที่สุด และเสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 24-25 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับดอลลาร์"
นอกจากนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ของโรงงานในสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.1%
ด้านนายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า "นักลงทุนจับตาดูว่าธนาคารกลางยุโรปจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หลังจากนายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป แสดงความเห็นว่า การบริหารวิกฤตการณ์น้ำมันอย่างผิดพลาดในทศวรรษ 1970 ด้วยการปล่อยให้ค่าจ้างแรงงานพุ่งขึ้น และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนั้น ไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันและอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--