นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเนื่องจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยกล่าวว่าราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วกำลังตอกย้ำเศรษฐกิจให้อ่อนแอลงไปอีกและจะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นด้วย
เบอร์นันเก้กล่าวในที่ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมในเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินสูงถึง 1.68 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษีให้กับกลุ่มนักธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง อีกทั้งกล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่เผชิญกับแรงกดดันด้านราคา
การแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 2.00% ในการประชุมวันที่ 24-25 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "นโยบายการเงินในปัจจุบันของเฟดอยู่ในสถานะที่ดีพอที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวปานกลางและทำให้ราคามีเสถียรภาพได้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสปัจจุบันนั้น เฟดยอมรับว่าค่อนข้างซบเซาลง อย่างไรก็ตาม เฟดคาดหวังว่าการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งที่ผ่านมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และขยายตัวจนถึงปี 2552"
"แต่ถึงกระนั้นเศรษฐกิจสหรัฐยังเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยและราคาที่อาศัยทรุดตัวลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้เสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง"
"ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 127 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้วิกฤตการณ์ด้านเงินเฟ้อในสหรัฐเข้าขั้นวิกฤติ และจะยิ่งหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆพุ่งสูงขึ้นด้วย สกุลเงินดอลลาร์มีอิทธิพลต่อการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานทั่วโลกที่สูงขึ้นและภาวะอุปทานตึงตัวก็มีส่วนผลักดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นด้วย" เบอร์นันเก้กล่าว
นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐปรับตัวขึ้นเกินคาด แต่ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงทรุดตัวลงเนื่องจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงานที่ซบเซาลง การปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและความต้องการจากผู้บริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอลง"
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นของเบอร์นันเก้ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง แต่หนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อคืนนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--