พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ระบุไม่เห็นด้วยที่ บมจ.ปตท.(PTT) จะปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ(NGV) จากเดิมที่รัฐบาลให้ตรึงราคาไว้ที่ 8.50 บาท/กก.จนถึงสิ้นปี แล้วปรับขึ้นเป็น 12 บาท/กก.ในปีหน้า เพราะจะทำให้แผนส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้
"คิดว่าไม่เหมาะสมที่จะขึ้นราคา เพราะกระทรวงพลังงานพึ่งเริ่มส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี หากมีการปรับราคาก็จะไม่จูงใจประชาชนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีตามแผนงานที่กระทรวงฯ ตั้งเป้าไว้" พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ปตท.ได้ออกมาระบุว่า บริษัทต้องแบกรับภาระจากการเข้าไปอุดหนุนราคาก๊าซ NGV ปีละ 5 พันล้านบาท
รมว.พลังงาน ยืนยันว่า จะเดินหน้าส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซิน E85 ต่อไป แม้ผู้ประกอบการรถยนต์บางรายจะเห็นว่ายังไม่มีมาตรการจูงใจเท่าที่ควร เพราะมติ ครม.ที่ออกมาไม่แตกต่างจากน้ำมันเบนซิน E20 แต่รัฐบาลเห็นว่าน้ำมันเบนซิน E85 เป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง โดยในช่วงบ่ายจะหารือกับ 23 ส.ส.ในจังหวัดชายฝั่งภาคใต้ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้ชาวประมงชายฝั่งหันมาทำไบโอดีเซลชุมชนจากน้ำมันพืชใช้แล้วและพืชสบู่ดำ เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงและป้องกันอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า เรื่องเกียวกับภาษีเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนกระทรวงพลังงานจะดูแลเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก
ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้รถยนต์ใช้น้ำมันเบนซิน E85 จะไม่กระทบต่อโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ส่งเสริมการลงทุนสำหรับค่ายรถยนต์ไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท
เนื่องจากรถทั้งสองประเภทแตกต่างกันในเรื่องภาษีสรรพสามิต โดยรถยนต์อีโคคาร์ เน้นเรื่องประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทผู้ผลิตไม่ได้มองตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก ตามความต้องการตลาดโลก
นายสุวิทย์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะมีเพิ่มขึ้น หากรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมัน E85 ออกสู่ตลาด โดยยืนยันว่ากำลังการผลิตเอทานอลในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลถึง 11 แห่ง
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--