นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย ) จำกัด เพื่อขยายการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับงานเคลือบต่างๆ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตกังหันลมทั่วโลก โดยมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(มาบตาพุด)
ปัจจุบันตลาดเคมีภัณฑ์ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งการลงทุนครั้งนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นการส่งออกแล้ว ยังใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นมูลค่าถึง 3,227 ล้านบาทต่อปี และช่วยต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งใช้เคมีภัณฑ์ประเภทนี้เป็นส่วนประกอบให้ชิ้นส่วนมีความคงทนหรือยืดอายุการใช้งานให้ยาวขึ้น รองรับกับทิศทางการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ตามนโยบายปีแห่งการลงทุนไทยด้วย
โดยโครงการนี้จะผลิตเคมีภัณฑ์กลุ่ม EPOXY และ CURING AGENT ชนิดต่างๆ ได้แก่ LIQUID EPOXY และ MODIFIED EPOXY เป็นต้น โดย LIQUID EPOXY เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสารเคลือบสำหรับโลหะแผ่น ท่อ เฟอร์นิเจอร์ แก้วเซรามิก ขณะที่ MODIFIED EPOXY จะนำไปใช้ในงานต่างๆ เช่น สารเคลือบให้ความเหนียวในงานอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มรถยนต์ ทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และใช้ในงานผลิตแม่พิมพ์ นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น เคลือบกันสนิมสำหรับงานโครงสร้าง เป็นต้น
สำหรับ MODIFIED EPOXY ที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษจากที่ใช้งานทั่วไป โดยจะมีสัดส่วนความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อให้ได้สารที่เหมาะกับการใช้เป็นกาว สารเสริมแรง และสารเคลือบในอุตสาหกรรมการผลิตกังหันลม ซึ่งจะทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานของกังหันลมที่ติดตั้งทั้งบนบกและนอกชายฝั่งในสภาวะที่มีลมแรง เหมาะกับการผลิตกระแสไฟฟ้า และรองรับความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ทั่วโลก
ทั้งนี้ บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์( ประเทศไทย ) จำกัด เกิดจากการรวมตัวเพื่อปรับโครงสร้างของบริษัทในเครือ 4 บริษัท คือ บริษัท ไทยออแกนิกส์ จำกัด, บริษัทไทยอีพอกซี่ แอนด์อัลลายด์ โปรดักส์, บริษัท ไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ไทย ซัลไฟท์สแอนด์เคมิคัล จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลิต EPOXY RESIN ได้ 25,978 ตันต่อปี และผลิต CURING AGENT ได้ 5,778 ตันต่อปี และคาดว่าหลังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ประมาณ 1 เท่าตัว หรือประมาณปีละ 56,000 ตันต่อปี
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--