ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจาก เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหม่ว่าเฟดจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมเดือนนี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากดัชนีภาคบริการของสหรัฐที่ขยายตัวปานกลาง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.5431 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.5444 ดอลลาร์/ยูโร เงินปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.9539 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9632 ดอลลาร์/ปอนด์
หากเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังค์สวิส ดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 105.23 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 105.07 เยน/ดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0424 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0418 ฟรังค์/ดอลลาร์
สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.7790 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7802 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ แต่ดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.9563 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9521 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
นายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากบริษัทซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐหลังจากเบอร์นันเก้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เฟดวิตกกังวลอย่างยิ่ง การแสดงความคิดเห็นครั้งหลังสุดของเบอร์นันเก้ถือเป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งว่า เฟดจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 24-25 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน"
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหัฐที่ระบุว่า ดัชนีภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 51.7 จุด ในเดือนพ.ค. ซึ่งดัชนีที่เหนือระดับ 50 จุดสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวได้ดี
ก่อนหน้านี้เบอร์นันเก้กล่าวในที่ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมในเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง
"ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 127 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้วิกฤตการณ์ด้านเงินเฟ้อในสหรัฐเข้าขั้นวิกฤติ และจะยิ่งหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆพุ่งสูงขึ้นด้วย สกุลเงินดอลลาร์มีอิทธิพลต่อการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานทั่วโลกที่สูงขึ้นและภาวะอุปทานตึงตัวก็มีส่วนผลักดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นด้วย" เบอร์นันเก้กล่าว
นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรปซึ่งจะมีขึ้นในเย็นวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--