ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ระบุว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 51 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 8.5-9.0 ในไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเหลือประมาณร้อยละ 7.0-7.5 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2551 จะสูงถึงประมาณร้อยละ 6.5-7.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3-4.8 ที่เคยคาดไว้ในครั้งก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0-3.5 และ 2.7-3.2 ตามลำดับ เฉลี่ยแล้วในปี 2551 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.3-2.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7-2.2 ที่คาดไว้ในครั้งก่อนเช่นกัน
ปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งการลดภาษีและการปรับขึ้นเงินเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการส่งผ่านรอบที่สองของเงินเฟ้อ (Second-round Effect) ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้น หากพิจารณาจากดัชนีราคาผู้ผลิตในส่วนของสินค้าผู้บริโภคสำเร็จรูป (PPI Finished Consumer Goods) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 ในเดือน พ.ค. แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี
ฝ่ายวิจัย ระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อในรอบนี้มีสาเหตุมาจากต้นทุน ดังนั้นแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีประมาณร้อยละ 0.50-0.75 จากระดับร้อยละ 3.25 ในปัจจุบัน อาจไม่มีประสิทธิภาพในการลดเงินเฟ้อมากนัก น่าจะช่วยเพียงป้องกันไม่ให้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตของผู้บริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงในระยะยาวมากกว่า
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--