รมว.คลังแนะปรับยุทธศาสตร์โลจิสติกส์เชิงรุก หนุนตั้งแอร์คาร์โก้-ขยายกองเรือ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 5, 2008 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ รองรับวิกฤตการค้าโลก" ว่า จากสภาพแวดล้อมของโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาซึ่งธุรกิจการค้าของโลกต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ราคาอาหารที่สูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแกนนำด้านเศรษฐกิจจากประเทศในซีกโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ มาเป็นประเทศทางซีกโลกตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย ทำให้จากนี้ไทยคงไม่สามารถตั้งรับได้อีกต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์ของประเทศใน 3 ประการ คือ ต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ของประเทศ, การเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยรู้ถึงกฎระเบียบต่างๆ อย่างเท่าทัน และการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีและสนับสนุนแหล่งเงินทุน
โดยเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น ควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางอากาศและทางทะเลให้สูงขึ้น เพื่อช่วยร่นเวลาในการขนส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกและเป็นการต่อยอดระบบขนส่ง เช่น การขนส่ง สินค้าทางการเกษตร หรือสินค้าที่มีความเปราะบาง ที่ต้องมีระยะเวลาจำกัดในการเก็บรักษา
นพ.สุรพงษ์ เห็นว่า บมจ.การบินไทย (THAI) ควรจัดตั้งสายการบินเป็นบริษัทลูก เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ (แอร์คาร์โก้) เพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าและบรรจุสินค้าหรือศูนย์แพ็คเกจสินค้า ซึ่งจากการหารือกับกระทรวงคมนาคมในเบื้องต้น อาจจัดตั้งทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยคาดว่าภายในปีนี้การบินไทยจะจัดทำแผนการดำเนินการที่ชัดเจน เพียงแต่ขั้นตอนการปฏิบัติคงต้องใช้เวลาอีกระยะ
"ในแง่การเตรียมการจะต้องเป็นหน้าที่ของบอร์ดการบินไทย ที่ให้นโยบายเร่งผลักดันและพัฒนาประสิทธิภาพ เพราะสายการบินอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ไม่สามารถแข่งขันกับของไทยได้ แต่ขณะนี้มีการพัฒนาไปมากแล้ว ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ยอมรับว่าเป็นปัญหาต่อต้นทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นโจทย์ที่หนักและท้าทาย" รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางทะเลที่ควรผลักดันการขยายกองเรือพาณิชย์ของไทย การเพิ่มระวางสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าเกษตรที่จะมีเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการตลาดโลก ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยมานานแต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงต้องเร่งรัด ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการต่อไป
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางทะเลมีสัดส่วน 90% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท/ปี แต่ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งว่าถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ