บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทช่วงครึ่งหลังของปีจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดหลังจากอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนในวันนี้ที่ 33.40 บาท/ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ
เช้านี้เงินบาทร่วงลงอย่างหนักหลังตลาดในประเทศเปิดทำการ โดยถูกกดดันจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องจากทั้งฝั่งผู้นำเข้าและนักลงทุนต่างชาติ หลังจากอ่อนค่าทะลุ 33.00 บาท/ดอลลาร์อย่างรวดเร็วเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แต่หลังจากนั้นค่าเงินบาทฟื้นตัวเล็กน้อยมายืนที่ระดับประมาณ 33.20 บาท/ดอลลาร์จากแรงขายดอลลาร์ฯ ซึ่งคาดว่าเป็นการเข้าแทรกแซงจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อลดความผันผวน
ศูนย์วิจัย ฯ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกทำสถิติในรอบทศวรรษท่ามกลางแรงเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก ตลอดจนความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ที่ถูกกดดันจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อบรรเทาความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม และยิ่งทวีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในวันนี้บาทอ่อนค่าลงประมาณ 5.2% จากระดับปิดตลาดเดือนกุมภาพันธ์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยเฉพาะ เงินวอน เงินเปโซ และเงินรูปี แต่ยังคงมีอัตราการอ่อนค่าที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
เงินบาทถูกกดดันจากปัจจัยลบหลายปัจจัย ประกอบด้วย แรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าและนักลงทุนต่างชาติ ความกังวลต่อความอ่อนแอของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด แนวโน้มความอ่อนแอของค่าเงินในภูมิภาค และ แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเกินคาดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า ประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป คือ แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ส่วนเงินดอลลาร์นั้นหากยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลง ก็อาจส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันเหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มที่อ่อนแอ
รวมทั้ง ความอ่อนแอของฐานะดุลการค้าของไทยโดยรวมในปี 2551 แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนแนวโน้มความอ่อนแอของสกุลเงินในภูมิภาคโดยเฉพาะเงินดองของเวียดนาม และเงินรูปีของอินเดีย โดยแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทอาจลดน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจฟื้นตัวขึ้นตามฐานะดุลการค้าและดุลบริการจากปัจจัยทางฤดูกาล
สรุปแล้ว ศูนย์วิจัยฯ ทยมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคโดยเฉพาะเงินวอน เงินเปโซ และเงินรูปี ซึ่งล้วนถูกกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและฐานะดุลการค้าที่ถดถอยลงอันเนื่องมาจากวิกฤตราคาน้ำมัน นอกจากนั้น ปัญหาการเมืองในประเทศของไทยเองก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน
แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกและค่าเงินดอลลาร์ หากราคาน้ำมันยังคงทะยานขึ้น แรงกดดันที่มีต่อสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาท ก็จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
ส่วนทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ในปีนั้น ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังคงส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นระยะๆ ต่อไป โดยเฉพาะหากธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ก็จะไปหนุนให้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูงเหมือนที่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลกดดันย้อนกลับมาที่สกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนจากดุลบริการที่น่าจะเกินดุลในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามปัจจัยด้านฤดูกาลจากรายได้จากการท่องเที่ยว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--