(เพิ่มเติม) รัฐไฟเขียวขึ้นค่าเรือด่วนอีก 1-2 บาท/เรือข้ามฟาก 50 สต.เริ่ม 25 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 10, 2008 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี(ขน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับกิจการเรือโดยสาร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ อนุมัติให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ตามที่เรียกร้อง โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป
"ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น และมีมติอนุมัติปรับขึ้นค่าเรือโดยสาร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป" นายประสงค์ กล่าว
สำหรับอัตราค่าเรือโดยสารใหม่ ประกอบด้วย เรือด่วนเจ้าพระยา ธงส้มและธงเหลือง ปรับราคาเพิ่มอีกระยะละ 2 บาท โดยเรือธงส้มอยู่ที่ 17 บาทตลอดสาย จากเดิม 15 บาทตลอดสาย ส่วนเรือธงเหลืองอยู่ที่ 22-31 บาท จากเดิม 20-29 บาท, เรือคลองแสนแสบ ปรับราคาเพิ่มอีกระยะละ 2 บาท เป็น 12-22 บาท จากเดิม 10-20 บาท และเรือด่วนธงประจำทาง ปรับราคาเพิ่มอีกระยะละ 1 บาท เป็น 11-15 บาท จากเดิม 10-14 บาท
ขณะที่เรือข้ามฟาก ปรับขึ้นราคา 0.50 บาท เฉพาะท่าเรือที่มีผู้โดยสารไม่เกิน 5,000 คน โดยปรับราคาเป็น 3-4 บาท จากเดิม 2.50-3.50 บาท ส่วนท่าเรือที่มีผู้โดยสาร 5,000 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าช้าง-วัดระฆัง, ท่าช้าง-วังหลัง, ท่าพระจันทร์เหนือ-วังหลัง, ท่าพระจันทร์เหนือ-รถไฟ, ท่าพระจันทร์เหนือ-ปิ่นเกล้า, ท่าปิ่นเกล้า-ฝั่งธนฯ-ฝั่งพระนคร ให้ตรึงค่าโดยสารไปก่อน
ทั้งนี้ ขน.ได้เจรจากับผู้ประกอบการเรือโดยสาร เพื่อใช้ฐานราคาค่าโดยสารใหม่นี้ไปจนถึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 45 บาท ซึ่งมีระยะห่างของราคาน้ำมันที่ 31-45 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งที่ผ่านมา โดยมีระยะห่างของราคาน้ำมันอยู่ที่ 25-31 บาท ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับขึ้นค่าเรือโดยสารได้ระดับหนึ่ง แต่หากในอนาคตราคาน้ำมันดีเซลปรับราคาเพิ่มขึ้นถึงลิตรละ 45 บาท ขน.จะพิจารณาค่าโดยสารให้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ขน.ยังได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการเรือโดยสารเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ภาครัฐอุดหนุนราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่าราคาท้องตลาดลิตร 3 บาท เพื่อให้การช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งจะต้องขอหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมก่อนว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้หรือไม่
ด้าน น.ท.ปริญญา รักวาทิน อุปนายกสมาคมเรือโดยสาร กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าเรือโดยสารในครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแพงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะราคาค่าเรือโดยสารคิดบนฐานราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 37 บาท แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคาจนเกือบถึงลิตรละ 40 บาทแล้ว
"หากราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าลิตรละ 40 บาทเป็นเวลานาน ผู้ประกอบการเรือโดยสารคงต้องเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารอีกครั้ง หรือหากภาครัฐต้องการชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสาร เพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การอุดหนุนน้ำมันราคาต่ำกว่าท้องตลาดลิตรละ 3 บาท โดยผู้ประกอบการเรือโดยสารจะใช้น้ำมันประมาณเดือนละ 8-9 แสนลิตร" น.ท.ปริญญา กล่าว
ปัจจุบันผู้ประกอบการเรือโดยสารมีกำไรจากการให้บริการน้อยมากประมาณ 5-7% จากรายได้เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ากำไรที่ ขน.กำหนดไว้ที่ 10-12% เพราะต้นทุนการเดินเรือเพิ่มขึ้นสูง และจากการปรับขึ้นค่าโดยสารเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลงวันละ 3,000 เที่ยว และคาดว่าหลังปรับค่าเรือโดยสารครั้งนี้จะทำให้ผู้โดยสารลดลงในระยะแรกเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ