บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไืทย จำกัด คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ยอดขายรถยนต์น่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปี 51 คงจะมีจำนวนประมาณ 680,000 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 8% โดยประมาณ เทียบกับที่หดตัวลง 7.4% ในปี 50
ปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มหดตัวลงนั้น ได้แก่ ในระยะยาวจากแนวนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่มุ่งสนับสนุนยานยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการผลิตและตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคตจะมุ่งไปที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีแนวทางการปรับตัว โดยพัฒนารถยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เองก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศในเดือน พ.ค.51 สูงขึ้นถึง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้อีกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและอาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ทยอยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทขึ้นอยู่ระหว่าง 0.375-0.4% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่มีการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายช่วงครึ่งหลังปี 2549 ผลดังกล่าวน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ลดลง
ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตของภาครัฐนั้น อาจจะยังไม่เริ่มส่งผลกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้ชัดเจนมากนักในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลเริ่มบังคับใช้ รวมทั้งยังคงต้องติดตามว่าราคาแก๊สโซฮอล์ อี 85 ที่จะออกมานั้นจะสามารถจูงใจผู้บริโภคได้มากเพียงใด
สำหรับในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากแนวนโยบายต่างๆของภาครัฐที่มุ่งสนับสนุนยานยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการผลิตและตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งไปที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีแนวทางการปรับตัว โดยพัฒนารถยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--