ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 มิ.ย.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของสหรัฐส่งสัญญาณว่าอาจแทรกแซงตลาดเงินเพื่อพยุงดอลลาร์ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และจากการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 107.37 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 106.34 เยน/ดอลลาร์ และพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.0423 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0273 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.5452 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5644 ดอลลาร์/ยูโร เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9539 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9748 ดอลลาร์/ปอนด์
สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.9462 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9489 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.7524 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7579 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างเดินทางเยือนยุโรปว่า "สกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐ และเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกด้วย ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐจะแข็งแกร่งในระยะยาวได้หรือไม่นั้น ก็ดูได้จากมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์"
ด้านนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เขาไม่ปฏิเสธทางเลือกใหม่ๆที่จะหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา
"ผมไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้เรื่องการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา แต่ผมไม่อาจบอกได้ในเวลานี้ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยวิธีการใด สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจจนถึงขณะนี้ก็คือว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าประเทศอุตสาหกรรมประเทศอื่นๆทั่วโลก และปัจจัยพื้นฐานเช่นนี้สะท้อนให้เห็นได้จากมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์" พอลสันกล่าว
ขณะที่นายทิม กีธเนอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กกล่าวในที่ประชุมที่กรุงนิวยอร์กว่า เฟดต้องให้ความสำคัญกับทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์ และอาจต้องใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน
"การแสดงความเห็นของ บุช พอลสัน และผู้ว่าการเฟดสาขานิวยอร์ก กระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐอย่างคับคั่ง เพราะการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและหนุนดอลลาร์ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์ทั้งสิ้น ทิศทางของดอลลาร์ในขณะนี้ขึ้นอยู่กับการแสดงความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ" นายเดวิด โซลิน นักวิเคราะห์จากฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติก กล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 7.8% แตะระดับ 6.09 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 5.65 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าสหรัฐจะขาดดุลการค้า 5.99 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--