ผู้ประกอบการถบรรทุกยื่นคำขาดรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมันภายใน 17 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 11, 2008 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายทองอยู่ คงขันธ์ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยืนข้อเสนอให้กับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม และพล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงถึง 68% ของต้นทุนค่าขนส่งทั้งหมด ซึ่งปกติต้นทุนราคาน้ำมันอยู่ที่ 50% ก็ขาดทุนแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการยื่นหนังสือให้รมว.พลังงานและหารือร่วมกับเลขานุการรัฐมนตรี มีแนวโน้มที่ดีที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตามข้อเสนอที่จำเป็นเร่งด่วน 3 ข้อ คือ การจัดหาน้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าท้องตลาดอย่างน้อยลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ในจำนวนประมาณ 4 แสนลิตรต่อวัน , ขอให้จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.50% เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวี และ ให้กระทรวงพลังงานและบมจ. ปตท. (PTT) จัดเตรียมก๊าซเอ็นจีวี และสถานีบริการเอ็นจีวีให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
"เราเป็นผู้เดือดร้อนที่ออกมาขอให้รัฐบาลช่วยเหลือหลังสุด เพราะไม่ต้องการสร้างภาระให้กับรัฐบาล และหวังว่าเมื่อเราเป็นเด็กดีที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็จะให้ความช่วยเหลือ โดยจะรอดูทีท่าของรัฐบาลว่าจะช่วยเหลืออย่างไรจนถึงวันที่ 17 มิ.ย.นี้ หากยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ กว่า 4 แสนคัน จะเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเข้ามาจอดในพื้นที่กทม.แน่นอน"นายทองอยู่ กล่าว
ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ของสหพันธ์ฯ ได้แก่ ขอลดภาษีรถบรรทุกใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวีเหลือ 10%, ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้นำเงินมาให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ , ขอให้ปรับปรุงคุณภาพเอ็นจีวีให้สะอาดและค่ามาตรฐานความร้อนคงที่, ให้รัฐบาลแก้ปัญหาส่วยทางหลวง และให้มีการวางแผนนโยบายการใช้เอ็นจีวีอย่างต่อเนื่องทั้งระยะปานกลางและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายทองอยู่ ยังกล่าวอีกว่า การลดราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่าท้องตลาดลิตรละ 3 บาท จะช่วยแบ่งเบาภาระการขาดทุนให้กับผู้ประกอบการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการเดินรถได้ประมาณ 2-3% แต่ที่สำคัญ คือ เมื่อรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้วจะไม่ปรับขึ้นค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ส่วนหนึ่ง
"จากผลกระทบราคาน้ำมันแพง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับค่าขนส่งให้ทันกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการไม่ต้องการเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทำให้สมาชิกของสหพันธ์ฯ อย่างน้อย 5 ราย ต้องปิดกิจการ ส่วนผู้ประกอบการรายอื่น เช่น ภาคอีสานปิดกิจการไปแล้วกว่า 5,000 ราย" นายทองอยู่ กล่าว
ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศมีอยู่ทั้งประมาณ 7 แสนคัน
เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ ผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศกว่า 1 แสนคัน ได้นำรถบรรทุก และรถพ่วง มาจอดตามถนนสายหลักทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถนนสายเอเชีย ถนนสายมิตรภาพ ถนนพระราม 3 และถนนบางนา-ตราด ในพื้นที่ภาคอีสาน นครสวรรค์ และกทม. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และได้ยุติการชุมนุมในเวลา 12.00 น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ