Moody's Economy.com คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะชะลอตัวลงในอีก 2-3 ไตรมาสนี้ เนื่องจากบริษัทเอกชนลดอัตราการลงทุนและภาคครัวเรือนลดตัวเลขการใช้จ่าย
"การค้าโดยรวมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเคลื่อนไหวในระดับปานกลางเท่านั้น เนื่องจากจีนลดทั้งอัตราการนำเข้าและการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรม และคาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดแรงงานซบเซาลงและต้นทุนการกู้ยืมพุ่งสูงขึ้น" นักวิเคราะห์จาก Moody's Economy.com กล่าว
"ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้นๆของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นยังส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) และดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้ธนาคารกลางบางแห่งในภูมิภาคเอเชียใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน" Moody's Economy.com ระบุ
ทั้งนี้ Moody's Economy.com การที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกจับตาดูสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อแทนที่จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในด้านลบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคืออาจทำให้ภาคเอกชนชะลอแผนการลงทุน
นอกจากนี้ Moody's Economy.com กล่าวว่า กระแสเงินทุนหมุนเวียนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวล ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียร่วงลงอย่างหนัก ส่วนตลาดแรงงานยังคงซบเซาเนื่องจากความต้องการแรงงานที่ลดน้อยลง และภาคครัวเรือนก็ลดการใช้จ่ายลง ซึ่งปัจจัยเหล่าล้วนแล้วแต่ฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงทั้งสิ้น
ในระยะกลางนั้น Moody's Economy.com เชื่อว่า ราคาอาหารจะยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเอเชียแปซิฟิกพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าจำนวนคนยากจนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะลดน้อยลง นอกจากนี้คาดว่าราคาอาหารจะยังคงเป็นตัวเร่งที่ทำให้รัฐบาลทุ่มเทความพยายามในการเพิ่มการผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มอุปทานให้เพียงพอที่จะรองรับอุปสงค์ สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--