(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 71.8

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 12, 2008 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค.51 ว่า ดัชนีปรับลดลงทุกตัวจากเดือน เม.ย.51
โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 71.8 ลดลงจาก 73.0 ในเดือน เม.ย.51 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.8 ลดลงจากเดือน เม.ย.ซึ่งอยู่ที่ 72.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.8 จากเดือน เม.ย.ซึ่งอยู่ที่ 94.0
สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกตัว เนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเชิงลบด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค, ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ, ภาวะเงินบาทอ่อนค่า ตลอดจนความกังวลต่อปัญหาซับไพร์มในสหรัฐที่ยังคงมีอยู่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาส 3/51 และนำงบประมาณสำหรับไตรมาส 4 ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะอันใกล้ที่ไม่สูงเกินไปกว่า 150 เหรียญ/บาร์เรล ก็อาจจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
"หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปีนี้ก็จะไม่ฟื้น การบริโภคของประชาชนก็จะยังไม่ฟื้น และไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว รัฐบาลต้องใช้มาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังเป็นมาตรการเชิงรับมากกว่า และต้องเร่งกระตุ้นให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ผลักดันให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นด้วย" ผ.อ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ
สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการดูแลด้านการเงินการคลังนั้น เห็นว่า รัฐบาลควรดูแลให้ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่อ่อนค่าไปตามค่าเงินในภูมิภาค โดยเชื่อว่าค่าเงินที่ระดับ 33-34 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าเหมาะสมกับการส่งออกของไทย
ส่วนนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในขณะนี้ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะระดับอัตราดอกเบี้ยที่ 3.25% มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว แต่หากในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) พุ่งทะลุเกินกว่า 3.5% จึงค่อยเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อในประเทศขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง และมีสัญญาณที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเลข 2 หลัก
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) อยู่ที่ 7.8% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบทศวรรษ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ