ศูนย์วิจัยกสิกรฯเชื่อวิกฤติศก.ภูมิภาครอบนี้กระทบไทยน้อย เสถียรภาพยังดี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 13, 2008 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อ ไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจภูมิภาคในรอบนี้ไม่มาก เนื่องจากฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่ง เพียงแต่แบงก์ชาติต้องดูแลเสถียรภาพทั้งด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้
ทั้งนี้ปัญหาเศรษฐกิจภูมิภาคในรอบนี้มีสาเหตุมาจากอัตราเงินเฟ้อหลายประเทศทะยานขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาอาหาร ขณะที่ฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดถดถอยลง เมื่อประกอบกับการที่หลายประเทศในภูมิภาคมีฐานะหนี้ต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และเวียดนาม ก็ทำให้สกุลเงินของประเทศดังกล่าว ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงท่ามกลางการไหลออกของเงินทุน
สำหรับประเทศไทย ก็เผชิญปัญหาคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือ แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยกำลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์นั้น ล้วนออกมาในระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมได้ทะยานขึ้นมากกว่าที่คาดอีกครั้ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 6.2 ในเดือนเมษายน
แต่การที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งทำให้ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนน้อยกว่าหลายประเทศ แต่กลไกการเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาคอาเซียนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงถูกกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภูมิภาคในรอบนี้ เพราะการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนมีสัดส่วนสูงถึง 22% ของการส่งออกรวมของไทย
"ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทย ซึ่งปัจจุบันสูงกว่า 1.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่ ธปท.จะต้องระมัดระวังประเด็นในด้านเสถียรภาพ ทั้งด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แต่หากปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามลุกลามออกไปจนยากที่จะควบคุม กระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็อาจทยอยไหลออก และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง
โดยเบื้องต้นตลาดการเงินของประเทศเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม ส่วนความรุนแรงของผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด
หากพิจารณาถึงเครื่องชี้ที่สะท้อนเสถียรภาพต่างประเทศ จะพบว่าปากีสถาน, ศรีลังกา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และ อินเดีย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแอจะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีอาจได้รับผลกระทบในวงที่จำกัดเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ