บรรยากาศการเปิดรับจำนำข้าวนาปรังที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากยังไม่มีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการจำนำ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. แม้แต่รายเดียว ทั้งที่มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 760 คน รวมถึงยังไม่มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการเช่นกัน ขณะที่คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด
ทั้งนี้ เชื่อว่าสาเหตุเป็นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่นำข้าวไปจำหน่ายให้กับโรงสีและผู้ประกอบการจนหมดแล้ว ซึ่งทางจังหวัดได้สั่งให้คณะอุนกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้องออกสำรวจข้าวนาปรังของเกษตรกรว่ามีอยู่ในมือมากน้อยเพียงใด มีความต้องการนำข้าวเข้าร่วมโครงการจำนำหรือไม่ และรายงานให้จังหวัดทราบ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับจำนำข้าวของเกษตรกรต่อไป
เช่นเดียวกับที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ไม่มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำแม้แต่รายเดียว เนื่องจากผลผลิตซึ่งมีราว 32,000 ตัน ได้ขายไปหมดแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมส่วนผลผลิตข้าวเหนียวที่ปลูกในพื้นที่ส่วนใหญ่ ไม่สามารถนำเข้าร่วมโครงการได้
ส่วนที่จังหวัดเชียงราย โรงสียังไม่สามารถเปิดรับจำนำข้าวได้ ซึ่งนายพิเชียร จอมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. จังหวัดเชียงรายชี้แจงว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องเงิน แต่เนื่องจากโรงสีแม่จันโกลเด้นเกรนในอำเภอแม่จัน ที่เข้าร่วมโครงการอยู่ระหว่างยื่นเอกสารค้ำประกันข้าว ต่อคณะกรรมการข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด จึงไม่สามารถรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังจากชาวนา ซึ่งคาดว่ามีประมาณกว่า 50,000 ตันในวันนี้ได้ แต่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการรับจำนำข้าวได้ภายในวันที่ 19 มิถุนายนนี้
ล่าสุดทางจังหวัด เร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรแล้ว พร้อมทั้งขอให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวหลังฝนทิ้งช่วง เพื่อให้จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากข้าวจะมีความชื้นต่ำ
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: jumnain@infoquest.co.th--