นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ไทยจะนำเรื่องที่สหรัฐฯ เรียกเก็บพันธบัตรค้ำประกันกุ้ง (ซี-บอนด์) ในอัตรา 100% ของอากรตอบโต้การทุ่มการตลาด(AD)ไปหารือกับสหรัฐฯ ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกัน เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการจัดเก็บดังกล่าว เพราะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนที่ผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นภาระของผู้ส่งออกไทยที่จะต้องวางเงินค้ำประกันในแต่ละงวดการส่งสินค้าคิดเป็นมูลค่ามหาศาล และต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับคืน เท่ากับเป็นเงินจม ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ
สำหรับกรณีดังกล่าวไทยได้ฟ้องร้องต่อ WTO แล้ว และได้ตัดสินให้ไทยชนะ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องยกเลิกการจัดเก็บ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการไปตามนั้น เพราะสหรัฐฯ ยื่นอุทธรณ์ต่อ WTO โดยยืนยันว่ามีสิทธิ์จัดเก็บได้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการนำเข้า จากการที่ที่ผู้ส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯไม่เสียอากร AD
"ขณะนี้เป็นการโต้เถียงกันในข้อกฎหมาย ไทยยืนยันว่า สหรัฐฯทำไม่ได้ เพราะผิดกฎ WTO ขณะที่สหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าทำได้ อย่างไรก็ตาม หากในการหารืออย่างไม่เป็นทางการสามารถตกลงกันได้ ไทยมีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการอุทธรณ์ยกเลิกพิจารณาได้" นายศิริพลกล่าว
ส่วนการหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไทยได้ยืนยันว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่ได้ใช้แรงงานเด็กอย่างที่องค์กรเอกชนของสหรัฐฯโจมตี และผลการตรวจสอบโรงงานกุ้งไทยของฝ่ายสหรัฐฯ เอง ก็พบว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กเช่นกัน จึงได้ขอให้ USTRชี้แจงให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯเข้าใจด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--