ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีชี้วัดกิจกรรมด้านการผลิตในรัฐนิวยอร์กร่วงลง ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 108.11 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 108.15 เยน/ดอลลาร์ และดิ่งลงแตะระดับ 1.0443 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0470 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5476 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5379 ดอลลาร์/ยูโร เงินปอนด์ทะยานขึ้นแตะระดับ 1.9629 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9465 ดอลลาร์/ปอนด์
ดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.7531 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7500 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9405 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9394 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก กล่าวว่า "ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงทันทีที่เฟดสาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต และสมาคมผู้สร้างบ้านเปิดเผยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข่าวการขาดทุนของเลห์แมน บราเธอร์ส ขณะที่สกุลเงินยูโรยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางยุโรปที่ส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
เฟดสาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีชี้วัดกิจกรรมด้านการผลิตในรัฐนิวยอร์ก ร่วงลงแตะระดับ -8.7 จุดในเดือนมิ.ย. จากเดือนก่อนหน้านี้ที่ -3.7 จุด
สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (เอ็นเอเอชบี) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐเดือนมิ.ย.ร่วงลงแตะระดับ 18 จุด จากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 19 จุด โดยดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าจำนวนผู้สร้างบ้านที่มองว่าตลาดอยู่ในภาวะย่ำแย่ มีมากกว่าจำนวนผู้สร้างบ้านที่มองว่าตลาดอยู่ในภาวะที่น่าพอใจ
เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐรายงานว่า บริษัทขาดทุนไตรมาส 2 ราว 2.87 พันล้านหุ้น หรือ 5.14 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดวอลล์สตรีทเมื่อปี 2537
ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศระดมทุนเพิ่ม 6 พันล้านดอลลาร์เพื่อพยุงงบดุล หลังจากที่คาดการณ์ว่าอาจจะขาดทุนถึงเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2
ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ใช้มาตรการเฝ้าระวังเงินเฟ้อในระดับสูงสุด และพร้อมที่จะใช้มาตรการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งอาจรวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปพุ่งขึ้น 3.6% ในเดือนพ.ค.และคาดว่าจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3% ไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อีซีบีตั้งเป้าไว้ว่าจะควบคุมเงินเฟ้อให้เคลื่อนไหวไม่เกิน 2%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--