"เลห์แมน บราเธอร์ส"ขาดทุนหนัก $2.87 พันล้านใน Q2 ขณะ CEO ออกโรงแสดงความรับผิดชอบ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 17, 2008 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐเปิดเผยว่า บริษัทขาดทุนในไตรมาส 2 เป็นวงเงินสูงถึง 2.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.14 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดวอลล์สตรีทเมื่อปี 2537 
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าเลห์แมน บราเธอร์ส วางแผนระดมทุนเพิ่ม 6 พันล้านดอลลาร์เพื่อพยุงงบดุล หลังจากที่บริษัทคาดการณ์ว่าอาจจะขาดทุนถึงเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ซึ่งข่าวการระดมทุนในครั้งนั้นส่งผลให้ราคาหุ้นเลห์แมน บราเธอร์สร่วงลงอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารของเลห์แมน บราเธอร์ ประกาศปลดผู้บริหารระดับสูงออกจากตำแหน่ง
แม้เลห์แมน บราเธอร์สยังไม่ได้ประกาศแผนการระดมทุนอย่างเป็นทางการ แต่นายริชาร์ด ฟัลด์ ซีอีโอของเลห์แมน บราเธอร์ ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการขาดทุนในไตรมาส 2 พร้อมกล่าวว่า บริษัทตอบสนองวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดช้าเกินไป
"การขาดทุนของเลห์แมน บราเธอร์สเป็นความผิดของผมเอง เราตัดสินใจใช้เงินลงทุนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งเราไม่ได้ทำความเข้าใจกับทางเลือกต่างๆอย่างถ่องแท้ และไม่ได้ตอบสนองวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างทันท่วงที" นายฟัลด์กล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศปลดนางเอริน คัลแลน ออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) และปลดนายโจเซฟ เกรกอรี ออกจากตำแหน่งประธาน หลังจากที่ผู้บริหารทั้ง 2 ไม่สามารถยับยั้งกระแสคาดการณ์ที่ว่าเลห์แมน บราเธอร์สจะขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลให้หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส ทรุดตัวลงถึง 65% ในปีนี้
รายงานระบุว่า วาณิชธนกิจและบริษัทโบรกเกอร์ทั่วโลกปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเป็นวงเงินรวมกันราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนอง ขณะที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มประเมินว่าสถานการณ์ด้านการเงินที่ย่ำแย่ของเลห์แมน บราเธอร์ส อาจทำให้เลห์แมนตกที่นั่งเดียวกับ แบร์ สเติร์นส์ ที่ต้องขายกิจการให้กับเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค
ถึงกระนั้นก็ตาม นายฟัลด์พยายามกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยกล่าวว่า เลห์แมน บราเธอร์ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนในขณะนี้ และคาดว่าบริษัทจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อไปได้โดยไม่ต้องควบรวมกิจการกับบริษัทใด อย่างไรก็ตาม นายฟัลด์แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องนี้โดยกล่าวว่า เขายังไม่ตัดทิ้งทางเลือกเรื่องการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นหากจำเป็น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ข่าวการขาดทุนอย่างหนักของเลห์แมน บราเธอร์ส เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ฉุดสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ