ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เปิดเผยรายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การซื้อขายสกุลเงินเอเชียในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศดำเนินไปอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาวะการซื้อขายเริ่มซบเซาลงเมื่อเร็วๆนี้เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศใช้มาตรการต่อต้านการเก็งกำไร
ผลการวิจัยของ BIS บ่งชี้ว่า ประเทศเอเชียควรยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงและการซื้อขาย หากการทำธุรกรรมในวันข้างหน้าเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินเอเชีย โดยในเดือนเม.ย.ปี 2550 ดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทสำคัญในการเป็นสกุลเงินที่ใช้ทำธุรกรรมถึง 97% ของซื้อขายสกุลเงินตราในเอเชีย
BIS ระบุว่า "การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินในภูมิภาคแทนการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนึ่งในทางเลือกหลากหลายที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรม เอเชียอาจเป็นเหมือนยุโรปที่ตัดสินใจใช้สกุลเงินยูโรแทนดอลลาร์สหรัฐ แต่การปรับเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโรนั้นทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ก่อน"
"การซื้อขายสกุลเงินเอเชียเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2550 วอลุ่มการซื้อขายพุ่งขึ้นเป็น 2.49 แสนล้านดอลลาร์/วัน แต่ต่อมาการซื้อขายเริ่มซบเซาลงเล็กน้อยเนื่องจากรัฐบาลใช้มาตาการควบคุมการเก็งกำไร" BIS ระบุ
วอลุ่มการซื้อขายสกุลเงินเอเชีย 10 สกุล ซึ่งไม่นับรวมเงินเยน พุ่งขึ้น 130% ในช่วงปี 2547-2550 โดยการซื้อขายสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วน 40% ของวอลุ่มการซื้อขายในแต่ละวัน ส่วนการซื้อขายเงินหยวนของจีนพุ่งขึ้นกว่า 7 เท่า แตะระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2550 จากปี 2547 ที่ระดับ 2 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายสกุลเงินเอเชียทั้งหมดรวมกันยังคงมีสัดส่วนไม่มากนักในตลาดโลก โดยมีสัดส่วนเพียง 7.5% แต่ถึงกระนั้น การซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราเอเชียยังคงถูกกำหนดทิศทางโดยการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--